ความเชื่ออุตฯ ทรุดหนักในรอบ 4 เดือน
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ทรุดหนักในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้นักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าทรุดให้หลุด 100
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) เดือนก.พ.59 จำนวน 1,201 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ.59 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.3 ในเดือนม.ค. โดยเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดรอบ 4 เดือนนับตั้งแต่ พ.ย.58 และ ยังลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมีทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขาย โดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2 มีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่ขยายพื้นที่ไปในวงกว้าง ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลายและอยู่ในสภาวะเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการขยายการลงทุน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังมีความต้องการต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.8 ในเดือนม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงและมีระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า การลงทุนและการบริโภคของภาครัฐ เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ภายใต้ภาวะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐสู่ภาคเศรษฐกิจจะช่วยจูงใจให้เกิดการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ตลอดจนมาตรการทางการเงินของภาครัฐที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนก.พ. คือ ต้องการให้ภาครัฐมีการเร่งการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานของภาครัฐให้ได้ตามแผนที่กำหนด มีการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลัก ที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย และให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) และการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่าน E-Commerce
ทั้งนี้ การจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ได้แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม 30.3% อุตสาหกรรมขนาดกลาง 30.3% และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 34.7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง 42.2% ภาคเหนือ 12.7% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16.0% ภาคตะวันออก 10.2% และภาคใต้ 18.9% และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ 82.9% และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ 17.1%.