คลังฝันดันไทยเป็น ศก.ตลาดเงิน-ทุนอาเซียน
คลังเพ้อ! ฝันจะเป็น ศก.การเงินและตลาดทุนของอาเซียน ดึง “ก.ล.ต. – ตลท. – ฟากตลาดทุน” ร่วมบูรณาการ หวังสร้างพื้นฐานการลงทุน “ธรรมาภิบาล” ตั้งแต่ระดับรากหญ้า พ่วงยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน และสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่คนไทยทุกระดับ
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาล เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า ตนไม่ต้องการมาให้นโยบาย แต่จะมาขอความร่วมมือจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนรวม 13 องค์กร เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนอย่างมีธรรมาภิบาลในวงกว้าง ทั้งนี้ ได้เสนอประเด็นต่อยอดจากโครงการดังกล่าวด้วยการช่วยกันยึดโยงและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคตลาดทุน ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ
ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีอยู่จริงในสังคมไทย แม้ว่าแนวโน้มจะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่หากปล่อยเอาไว้เช่นนี้ เชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจและส่งผลกระทบไปถึงตลาดทุนอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงอยากให้ตลาดทุนช่วยกันโดยมองในภาพกว้าง เนื่องจากเรามี SET 50 (ดัชนีหุ้น ที่ ตลท.คัดเลือกจากตัวหุ้นของ 50 บริษัทจดทะเบียนฯชั้นนำที่มีพื้นฐานค่อนข้างดี เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดรูปแบบหนึ่ง) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่น่าชื่นชม โดยให้ SET 50 และองค์กรอื่นในตลาดทุน มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ในเรื่องที่จะพัฒนาในเชิงพื้นที่ทั่วประเทศ
“เริ่มตั้งแต่คนตัวเล็ก ชุมชน วิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีขึ้นมาเลย เนื่องจากตลาดทุนมีศักยภาพมากมาย ทั้งกำลังคนและกำลังทุน ถ้านำมาบูรณาการร่วมกัน กับกระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งดูแลเรื่องเอสเอ็มอี จะกลายเป็นพลัง แล้วงานใหญ่ก็จะทำได้”
รมว.คลังกล่าวว่า อีกเรื่องที่เชิญชวนตลาดทุน คือ การสร้างกระบวนการรับรู้ การตระหนัก และการรอบรู้เกี่ยวกับตลาดทุนและตลาดเงินของพี่น้องคนไทยในวงกว้าง ด้วยการให้ความรู้และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนและการออมอย่างเหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากตลาดทุนมีองค์ความรู้และมีเครือข่ายที่ครอบคลุม ขณะที่กระทรวงการคลังเอง ก็มีธนาคารในกำกับของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และอื่นๆ ที่พร้อมจะเชื่อมโยงองค์ความรู้ดังกล่าว ถ่ายทอดสู่คนไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สอนให้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นทางว่า อะไรดี อะไรไม่ดี และอะไรคือความเสี่ยง
รวมถึงสร้างกระบวนการในการกำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลของการลงทุน โดยเชื่อมโยงในสิ่งที่ ตลท.และก.ล.ต.ทำอยู่แล้วไว้ด้วยกัน ให้เป็นเนื้อเดียวกัน สุดท้าย หากมีปัญหาบ้าง เช่น ไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ จึงต้องมาร่วมกันคิดว่าเราจะมีกลไกในการดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร เมื่อคนตัวเล็กล้ม ก็ต้องให้โอกาสเขาลุกขึ้นมา เอสเอ็มอีล้มก็จะต้องช่วยเหลือ โดยไม่ปล่อยให้พวกเขาล้มหายตายจากกันไป ด้วยการสร้างแนวทางช่วยให้พวกเขาได้ลุกขึ้นมาและเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
นายอุตตมย้ำว่า ส่วนตัวเชื่อว่าไทยมีศักยภาพสูงในการจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและตลาดทุนของภูมิภาค ขณะที่ต่างชาติเองก็เฝ้าจับตาดูเราอยู่ เนื่องจากไทยมีความพร้อมหลายๆ อย่าง ทำอย่างไรจึงจะให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงได้ โดยตนไม่คิดว่าจะเป็นความฝัน เพียงแต่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะหากไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องดังกล่าวจริง จะช่วยในการปฏิรูปประเทศได้มากแค่ไหน ส่วนรัฐบาลจะสร้างเครื่องมือเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ตลาดทุนมาร่วมมือกันอย่างไรนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าคงต้องมีแต่ต้องมาหารือร่วมกันว่าจะเป็นรูปแบบไหนและอย่างไร โดยกระทรวงการคลังพร้อมจะเปิดกว้างและรับฟังความเห็นของตลาดทุน
“พวกเราเห็นตรงกันว่า ไทยอยู่ในจุดอับในเชิงเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนโดยเร็ว เพราะมีความผันผวนมากมาย หากไทยไม่เข้มแข็งจากภายใน และเข้มแข็งจากฐานรากขึ้นมา เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว แม้แต่ SET 50 เอง ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย” รมว.คลังย้ำและว่า ภาครัฐเองก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎระเบียบที่จะเอื้ออำนวยต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำไปเยอะแล้ว เห็นได้จากการจัดอันดับของประเทศที่มีความสะดวกในการลงทุน ซึ่งอันดับของไทยก็ขยับเพิ่มขึ้นมา แต่ยังสามารถทำได้ดีกว่านี้
อีกเรื่องที่ตนได้หารือกับตัวแทนตลาดทุนคือ ทำอย่างไรจะให้ทั้งตลาดทุนของไทย และผู้ประกอบการไทย มีความน่าสนใจ จำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งทำหน้าที่เชื่อมโยง และเชื้อเชิญให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ ตนได้หารือกับประธาน ตลท. และเลขาธิการ ก.ล.ต.แล้วว่า จะต้องลงมือทำในทันที และมีข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าเริ่มงานได้ทันที เชื่อว่าปลายปีนี้คงจะเห็นผลเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือระหว่างกัน เพียงแต่ความร่วมมือนี้จะไม่มีที่เสร็จสิ้นและต้องดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เชื่อว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะมีผลอย่างมากต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากนักลงทุนขนาดใหญ่ หรือกองทุนจากต่างประเทศ ไม่ได้มองว่าการลงทุนในไทยมีโอกาสแค่ไหนและอย่างไร แต่จะต่างมองในระยะยาวว่า หากจะต้องเข้ามาลงทุนและอยู่ในไทยแล้ว ไทยได้ปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนหรือไม่ การเข้ามาทำธุรกิจทำได้ง่ายไหม ทั้งนี้ เราเองก็มีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยไร้การควบคุมแต่อย่างใด.