ราคาใบอนุญาตคลื่นความถี่ มีผลต่5G ไทย
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ ราคาใบอนุญาตคลนื่ ความถี่ มีผลต่อการพัฒนา 5G ราคาค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (operator) ต้องจ่ายสำหรับการพัฒนา 5G เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนด้านโครงข่ายของ operator ในระยะแรก
โดยราคาค่าใบอนุญาตที่ไม่สูงจนเกินไป จะช่วยให้ operator สามารถขยายโครงข่ายได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงกำหนดราคาแพ็กเกจ 5G ได้เหมาะสมและส่งผลบวกต่อจำนวนผู้เริ่มใช้บริการ 5G (adoption rate) ในที่สุด
อีไอซีได้ทำการประเมินมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) มูลค่าใบอนุญาตเทียบเคียงกับราคาจัดสรรคลื่น 700MHz (มูลค่ารวมทั้งหมด 1.1 – 1.3 แสนล้านบาท) จะส่งผลให้ผู้เริ่มใช้บริการ 5G หลังจากปีที่ 5 มีจำนวนราว 60% ของจำนวนผู้ใช้งานแบบรายเดือนทั้งหมด 2) มูลค่าใบอนุญาตประเมินจากมูลค่าคลื่นย่านความถี่กลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน (3-4 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ผู้เริ่มใช้บริการ 5G หลังจากปีที่ 5 มีจำนวนราว 70% และ 3) มูลค่าใบอนุญาตประเมินจากมูลค่า 50% ของราคาประมูลคลื่น 1800MHz ในปี 2015 ที่มีการแข่งขันสูง (มากกว่า 2 แสนล้านบาท) ส่งผลให้ adoption หลังจากปีที่ 5 อยู่ที่ราว 50%
การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสมจึงเป็นโจทย์สำคัญของ กสทช. เพราะจะต้องรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของรัฐในแง่การจัดเก็บรายได้จากค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่และระดับราคาที่จูงใจในการพัฒนาโครงข่าย 5G ของ operator ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการสื่อสารและการส่งผ่านข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
กรอบเวลาการจัดสรรคลื่นความถี่, หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขด้านราคา ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เนื่องจากมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน 5G ของผู้ให้บริการเครือข่าย เทคโนโลยี 5G หรือเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายในยุคที่ 5 เป็นกระแสที่หลายคนให้ความสนใจด้วยคุณสมบัติที่สูงกว่า 4G ทั้งในด้านความเร็วที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าและปริมาณการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า 1,000 เท่า โดยมีความหน่วงของเวลาต่ำมาก ทำให้เทคโนโลยี 5G สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet of Things ได้มากถึง 1 ล้านเครื่องต่อตารางกิโลเมตรและสื่อสารกันได้แบบ realtime ดังนั้นการใช้งานเทคโนโลยี 5G จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างที่ผ่านมา แต่สามารถตอบโจทย์การใช้งานให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต โดยการพัฒนาเทคโนโลยี 5G นั้น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (operator) ต้องถือครองคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมทั้งย่านความถี่ต่ำ 1 GHz, ความถี่กลาง 1-6 GHz และความถี่สูง 6 GHz เพื่อให้การใช้งานข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งคลื่นความถี่ที่ operator แต่ละรายต้องถือนี้จะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การกำหนดกรอบเวลาและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทยยังไม่ชัดเจนมากนักและยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนใน 5G ของ operator ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของไทยยังล่าช้ากว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างเวียดนามและมาเลเซียที่มีแผนกำหนดเริ่มใช้ 5G ในช่วงกลางปี 2020
ในการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ผ่านมา ใบอนุญาตคลื่นความถี่ของไทยมีมูลค่าสูงกว่าใบอนุญาตคลื่นความถี่เฉลี่ยของโลกถึง 4 เท่า ซึ่งการแบกรับต้นทุนคลื่นความถี่ที่สูงนั้น ย่อมมีผลต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงข่ายและคุณภาพการให้บริการ นับตั้งแต่การจัดสรรคลื่นความถี่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับเปลี่ยนจากระบบสัมปทานสู่วิธีประมูลในปี 2012 ซึ่งเป็นปีของการเริ่มต้นเทคโนโลยียุค 3G มูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1GHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ชุดแรกที่นำออกมาประมูลมีราคาประมูลรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาทซึ่งสูงกว่าราคาตั้งต้นของการประมูลราว 3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านบาท ต่อมาในยุค 4G การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น โดย operator แต่ละรายต่างช่วงชิงคลื่นความถี่ 900MHz ด้วยราคารวมทุบสถิติโลกทะลุ 1.5 แสนล้านบาทซึ่งสูงกว่าราคาตั้งต้นเกือบ 5 เท่าคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ปรากฏการณ์ข้างต้นส่งผลให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เฉลี่ยของไทยมีมูลค่าสูงถึง 0.26 ดอลลาร์สหรัฐ/MHz/ประชากร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีมูลค่าเพียง 0.06 ดอลลาร์สหรัฐ/MHz/ประชากร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการประมูลคลื่นความถี่ใน 102 ประเทศทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2008-2017) จากการศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนา 31 ประเทศของสมาคมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก (Global System for Mobile Communications Association: GSMA) พบว่าการแบกรับต้นทุนใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่สูงส่งผลให้ operator มีแนวโน้มชะลอการลงทุนขยายโครงข่ายซึ่งท้ายสุดผลกระทบตกอยู่กับผู้ใช้บริการในแง่ของคุณภาพการให้บริการ เมื่อพิจารณามูลค่าคลื่นความถี่ของไทยเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ใกล้เคียงกันจะเห็นว่า มูลค่าคลื่นความถี่ของไทยสูงกว่าประเทศอื่น ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลสูงกว่าไทยส่วนใหญ่ต่างแบกรับต้นทุนค่าคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่า นอกจากผลกระทบกับผู้ใช้บริการแล้วคุณภาพการให้บริการของไทยยังมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการบริการด้านโทรคมนาคมถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ดี อีไอซี ประเมินว่า การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการภาคอุตสาหกรรมจะกระตุ้นให้ operator เกิดแรงจูงใจในการลงทุน 5G ขณะที่ต้นทุนการขายอุปกรณ์มือถือมีแนวโน้มเพิ่มแรงกดดันในการลงทุน 5G ของ operator จากข้อมูลของ McKinsey พบว่าการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เช่น เสาสัญญาณและสถานีฐานจะสามารถลดต้นทุนการขยายโครงข่ายได้กว่า 40% ทำให้ operator ของไทยแต่ละรายต่างคาดหวังให้แนวทางการกำกับดูแลและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักงาน กสทช. ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันให้มีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการหารือและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในด้านผู้ใช้บริการ นอกจากการใช้เทคโนโลยี 5G ผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการในภาคอุตสาหกรรมยังมีส่วนช่วยให้รายได้ของ operator เติบโตยิ่งขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี 5G ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมด้วย และภาคอุตสาหกรรมของไทยเองต่างรอคอยเทคโนโลยี 5G เพื่อตอบโจทย์ความเป็น industry 4.0 ตามเทรนด์โลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของทางภาครัฐที่กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นประโยชน์ของการใช้งานเทคโนโลยี 5G มากขึ้นและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจริงในอนาคต เช่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์ในโรงงานผ่านระบบเซ็นเซอร์ในอุตสาหกรรมการผลิตทำให้การสื่อสารระหว่างเครื่องจักร (machine to machine) มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้นทุนที่ลดลงจากการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของ operator
ขณะที่ ต้นทุนการขายอุปกรณ์มือถือที่เพิ่มขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อการลงทุน เนื่องจากอุปกรณ์มือถือที่วางขายทั่วไปในปัจจุบันไม่สามารถรองรับการใช้งานในระบบ 5G ได้ส่งผลให้ในช่วงปีแรกของการใช้เทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ operator แต่ละรายอาจต้องเปิดศึกจัดโปรโมชันขายอุปกรณ์มือถือราคาต่ำแบบไม่เน้นกำไรเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่เข้ามาในระบบ 5G มากขึ้นแต่ต้องแลกกับการติดสัญญาการใช้บริการเช่นเดียวกับในยุคเทคโนโลยี 4G ส่งผลให้ operator ต้องแบกรับต้นทุนการขายมือถือจากการแข่งขันด้านราคาและอาจเผชิญกับภาวะขาดทุนอีกด้วย
ทุกวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยี 5G เป็นกุญแจสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในอนาคตนำไปสู่การปฎิวัติภาคอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจของไทยได้ในระยะยาว ดังนั้นความพร้อมของ operator ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมถือเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นได้ในไทยตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด