ธนารักษ์เจาะ CLMV
ธนารักษ์ เจาะกลุ่มประเทศ CLMV ปักธงเป็นมือปืนรับจ้างผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนให้แก่อาเซียน หลังกลุ่มประเทศเหล่านี้ใช้ธนบัตรมูลค่าน้อยๆ แทนเหรียญ
“นอกจากประเทศไทยจะมีธนบัตร (แบงก์) เป็นสกุลเงินแข็งที่สุดใน CLMV แล้ว เราอยากให้ประเทศเหล่านี้ หันกลับมาให้เหรียญกษาปณ์แทนที่จะใช้ธนบัตรเพียงอย่างเดียว”
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงกลยุทธ์ของกรมธนารักษ์ ในการรักษาในหน่วยงานแห่งยังคงเป็นผู้ผลิตเหรียญอยู่ต่อไป
แนวโน้มของการใช้เหรียญในประเทศไทยยังดีอยู่ แต่ในอนาคตอีก 10-15 ปี หลังจากนี้ต้องว่ากันใหม่และต้องศึกษาให้ชัดเจน เพราะโลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น e-Payment และเน็ตแบงก์ของธนาคารพาณิชย์ แต่ในช่วงนี้ ความต้องการใช้เหรียญภายในประเทศไทยยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะเครื่องหยอดเหรียญที่กำลังมาแรงงานช่วงนี้
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่าความต้องการเหรียญ 10 บาทในท้องตลาดมีมากขึ้น และจะมีความต้องการมากขึ้นตามตู้หยอดเหรียญเช่น เครื่องซักผ้า น้ำดื่ม และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในท้องตลาดมูลค่าสูงถึง 450,000 ล้านบาท และเริ่มภาวะที่สมดุลมากขึ้น หลังจากที่กรมธนารักษ์ปรับปรุงการรับแลกเหรียญ โดยให้ธนาคารออมสินรับแลกเปลี่ยนโดยไม่คิดมูลค่า (ฟรี) และควบคุมเหรียญในแต่ภูมิภาคไม่ให้ขาดแคลน โดยธนารักษ์แต่ละจังหวัดจะควบคุมปริมาณเหรียญอย่างใกล้ชิด
สำหรับกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้เหรียญในการชำระหนี้ แต่ได้ใช้ธนบัตรที่มูลค่าน้อยๆ มาใช้แทนเหรียญ ซึ่งมีข้อเสียมากมาย เช่น พกพายากลำบาก นับ แลกและทอนเงินลำบาก ท้ายที่สุดเหรียญกษาปณ์มีอายุการใช้งานยาวนาน 10-15 ปี ขณะที่ธนบัตรมีอายุการใช้งานไม่ถึง 5 ปี นอกจากนี้ ธนารักษ์ยังมีแผนที่ร่วมทุนกับโรงกษาปณ์จากประเทศอังกฤษเพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพในการผลิตเหรียญในย่านอาเซียน.