บชก.จัดติวเข้มข้อตกลงคุณธรรม
กรมบัญชีกลางจัดอบรม “โครงการข้อตกลงคุณธรรม” ให้ จนท.รัฐและผู้ประกอบการ ว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หวังสร้างมาตรวัดป้องกันทุจริตจัดซื้อจัดจ้าจากผู้ประกอบการ เผยพร้อมรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำไปพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคต
นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง (บชก.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกลางที่กำกับดูแลด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บชก.จึงเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จึงได้จัด “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) : โครงการเพิ่มศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” โดยมีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 12 ก.ย. 62 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
“โครงการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมเสนอราคากับภาครัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการที่มีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจัดให้มีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมและระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน โดยจะต้องห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนบุคคลที่สามที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการมีการติดสินบนอันเป็นการให้ประโยชน์ในการเสนอราคา หรือการสมยอมกันในการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ นำมาซึ่งความได้เปรียบและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนบางประการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” โฆษก บชก.ระบุ ย้ำว่า
ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน ให้ดำเนินโครงการอย่างสุจริต ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ลดช่องทางการทุจริต ก่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ผ่านมา บชก.ได้ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต ด้วยการใช้โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นเครื่องมือ โดยปัจจุบัน พบว่า เครื่องมือดังกล่าวช่วยให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ 74,893 ล้านบาท คิดเป็น 30.40% ของงบประมาณโครงการที่ดำเนินการจัดหา.