“สัมมา”ฟันธงตลาดบ้านปีนี้คึกคัก
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยตลาดปี 58 โตจากปี 57 ถึง 13% ขณะที่ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ก็เพิ่มขึ้นถึง 45% เนื่องจากผู้ซื้อบ้านรีบโอนตามมาตรการของรัฐบาล มั่นใจปี 59 ยังโตต่อเนื่องโดยเฉพาะคอนโดฯ ตามแนวทางรถไฟฟ้า
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมกันประมาณ 196,100 หน่วย เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2557 ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 174,100 หน่วย
หากนับเฉพาะหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเดือนพ.ย. และเดือนธ.ค.2558 รวมกันมีประมาณ 50,300 หน่วย เพิ่มขึ้นมากถึง 45% เมื่อเทียบกับหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนพ.ย. และเดือนธ.ค.2557 รวมกัน
ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ การเร่งโอนก่อนการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชี ปี 2559-2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2559 การเร่งโอนก่อนภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ.2559 และการโอนเพื่อสิทธิประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.2558 ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่ามาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนองจะส่งผลให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมี.ค. และเม.ย.2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 28 เม.ย.2559
สำหรับการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่า ในปี 2558 ผู้ประกอบการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ประเภทบ้านจัดสรรทั้งสิ้น 292 โครงการ รวมหน่วยในผังประมาณ 44,500 จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นประมาณ 13% แต่จำนวนหน่วยในผังลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ 258 โครงการ หน่วยในผังรวมประมาณ 45,200 หน่วย แสดงว่าโครงการบ้านจัดสรรโดยเฉลี่ยมีจำนวนหน่วยลดลง
จากหน่วยบ้านจัดสรรทั้งหมดที่เปิดขายใหม่ เป็นทาวน์เฮ้าส์ประมาณ 55% เป็นบ้านเดี่ยว 31% ที่เหลือเป็นบ้านแฝดหรืออาคารพาณิชย์พักอาศัย
โดยในปี 2558 พบว่าบ้านจัดสรรที่เปิดขายใหม่แบ่งตามพื้นที่จังหวัด 48% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 19% อยู่ในนนทบุรี และ 14% อยู่ในปทุมธานี ที่เหลืออยู่ในสมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ตามลำดับ
จากหน่วยบ้านจัดสรรทั้งหมดที่เปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในปี 2558 มีหน่วยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เพียงประมาณ 300 หน่วย (เป็นทาวน์เฮ้าส์ที่เปิดขายในจังหวัดสมุทรปราการ) ทั้งนี้ 49% อยู่ในระดับราคา 1.1-3 ล้านบาท อีก 28% เป็นหน่วยในระดับราคา 3.1-5 ล้านบาท และ 22% เป็นหน่วยในระดับราคาที่สูงกว่า 5 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ในปี 2558 เท่ากับประมาณ 183,800 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าโครงการทั้งปี 2557 ซึ่งเท่ากับ 181,500 ล้านบาท
นายสัมมา กล่าวว่า พื้นที่ซึ่งมีหน่วยบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่มากที่สุดในปี 2558 ได้แก่ โซนบางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย (6,400 หน่วย) โซนสมุทรปราการ (5,600 หน่วย) โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ (5,100 หน่วย) โซนลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ (4,800 หน่วย) และโซนมีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง (4,500 หน่วย)
สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด ในปี 2558 มีอาคารชุดเปิดขายใหม่ประมาณ 152 โครงการ รวมหน่วยในผังประมาณ 60,400 หน่วย เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่ 157 โครงการ หน่วยในผังรวมประมาณ 73,100 หน่วย ดังนั้นจำนวนหน่วยห้องชุดเปิดขายใหม่ลดลงประมาณ 17% จากปี 2557
สัดส่วนของห้องชุดราคาแพงกว่า 5 ล้านบาทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 9% ในปี 2557 เป็น 16% ของปี 2558 ทั้งนี้ห้องชุดระดับราคาแพงดังกล่าวส่วนใหญ่เปิดขายในช่วงไตรมาสแรกต่อเนื่องต้นไตรมาส 2 ในขณะที่สัดส่วนของห้องชุดราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 53% ในปี 2557 เป็น 42% เมื่อกับปี 2558
มูลค่าโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่ในปี 2558 เท่ากับประมาณ 210,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งเท่ากับ 194,700 ล้านบาท เนื่องจากมีองค์ประกอบที่เป็นห้องชุดระดับราคาสูงมากขึ้น
ส่วนพื้นที่ที่มีหน่วยห้องชุดเปิดขายใหม่มากที่สุดในปี 2558 ได้แก่ โซนนนทบุรี (10,500 หน่วย) โซนสมุทรปราการ (8,500 หน่วย) โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง (8,000 หน่วย) และโซนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี (7,400 หน่วย) และโซนสุขุมวิทตอนปลาย (3,900 หน่วย)
“ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดประมาณว่าในปี 2559 ยอดเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะยังทรงตัว โดยในช่วง 4 เดือนแรกจะยังไม่มีการเปิดขายโครงการใหม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคมุ่งให้ความสนใจกับมาตรการลด หย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนองก่อนมาตรการหมดอายุ หลังจากนั้นจึงจะมีการเร่งเปิดโครงการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะเปิดโครงการใหม่โดยอิงปัจจัยทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์”ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าว
ปัจจัยบวกที่สำคัญสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2559 ได้แก่ การที่ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ และการเร่งก่อสร้างโครงข่ายขนส่งคมนาคมทั้งระบบราง และระบบถนน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการถนนเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัชไปถนนกาญจนาภิเษก โครงการถนนสายพรานนก-พุทธมณฑล ฯลฯ