คลังตั้ง 3 กองทุนฟื้นเศรษฐกิจไทย
คลังเล็งชง ครม. ตั้ง 2 กองทุนภายในเดือนธ.ค.นี้ และอีก 1 กองทุนต้นปีหน้า มูลค่ารวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมให้แก่ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ภายในเดือนธ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอจัดตั้ง 2 กองทุนขนาดใหญ่ เพื่อสร้างพื้นฐานทางด้านการเงิน และการลงทุนให้แก่ประเทศ และภายใต้ไตรมาสแรกของปี 2559 จะจัดตั้งอีก 1 กองทุน เพื่อสนับสนุนงานวิจัย และการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรม โดยในสัปดาห์นี้ จะเสนอตั้งกองทุนคลัสเตอร์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ มูลค่า 4,000-6,000 ล้านบาท และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ธ.ค. จะเสนอให้จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ส ฟันด์ มูลค่า 100,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และในต้นปีหน้า จะเสนอจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม
สำหรับการจัดตั้งกองทุนคลัสเตอร์มูลค่า 4,000-6,000 ล้านบาทของรัฐบาลในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปร่วมลงทุนกับนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หากต้องการลงทุนใหม่ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มซุปเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อต่อยอดกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ สำหรับซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. มีทั้งหมด 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเก่าที่เป็น News S-curve ในอนาคต 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive) 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) 4. การเกษตร และเทคโนโลยี ชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy) และ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และกลุ่มที่ 2 มีอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) 2.อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4. อุตสาหกรรม ดิจิตอล (Digital) และ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ขณะที่การจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ส ฟันด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำลงไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล โดยในเบื้องต้นรัฐบาลจะนำหุ้นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนวายุภักษ์ มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ใส่เป็นทุนประเดิม ซึ่งปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์มีมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้กำหนดให้กองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ส ฟันด์ เปิดกองทุนเปิด วงเงินก้อนแรกที่คาดว่า จะระดมได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยจะเสนอขายให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบัน เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิตและประกันภัย รวมถึงนักลงทุนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งภายหลังจากที่ ครม. อนุมัติจัดตั้งกองทุนแห่งนี้แล้ว กระทรวงการคลังจะขออนุญาตจัดตั้งกองทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ต่อไป โดยคาดว่า จะสามารถเปิดขายกองทุนได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2559
ส่วนการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมการนั้น การหารือระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะเป้าหมายของกองทุนนี้ จะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนา และผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เพื่อนำสินค้านวัตกรรมที่ค้นคิดได้นำไปสู่เชิงพาณิชย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา รองนายกฯ สมคิด และ รมว.คลัง ได้พยายามผลักดันจัดตั้งทั้ง 3 กองทุน เพื่อเปลี่ยนโฉมประเทศไทย หลังจากที่ได้หยุดพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมานานกว่า 10 ปี เพราะปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยแต่ละกองทุนจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การนำประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ News S-curve (คลื่นลูกใหม่)