สิงคโปร์คว้าแชมป์แข่งขันศก.สูงสุดในโลก
สิงคโปร์ครองอันดับ 1 เป็นประเทศที่มีความสามารถในการเเข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกจากทั้งหมด 63 ประเทศ จากการเผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 พ.ค.โดยกลุ่มวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ IMD World Competitiveness Centre
โดยสิงคโปร์กลับขึ้นมาครองอันดับ 1 ได้ (เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2543) เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า แรงงานทักษะสูงที่มีอยู่มาก กฎหมายอพยพเข้าเมืองที่เอื้อประโยชน์ และวิธีการที่เปี่ยมประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจใหม่ รายงานระบุ
1 ใน 4 ประเภทคะแนนที่มีการประเมิน สิงคโปร์สามารถทำคะแนนได้อยู่ใน 5 อันดับแรกถึง 3 ประเภท คือ ผลประกอบการทางเศรษฐกิจ (5) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (3) และประสิทธิภาพธุรกิจ (5) ส่วนในประเภทโครงสร้างพื้นฐาน สิงคโปร์ได้คะแนนเป็นที่ 6
ฮ่องกง ซึ่งเป็นอีกประเทศในเอเชียที่ติดใน 10 อันดับแรก อยู่ในอันดับ 2 จากอัตราภาษีต่ำและสภาพแวดล้อมนโยบายทางธุรกิจ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งการเงินทางธุรกิจ
โดยสหรัฐฯ ซึ่งในปีที่แล้วครองอันดับ 1 กลับตกลงมาอยู่ในอันดับ 3
ทั้งนี้ รายงานนี้ ซึ่งมีการจัดทำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2532 ระบุว่า ความเชื่อมั่นที่ได้แรงหนุนจากนโยบายลดภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “ มีท่าทีจะอ่อนแรงลง”
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การส่งออกสินค้าไฮเทคที่ซบเซาลง และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
อีก 2 ประเทศที่ติดใน 5 อันดับแรกคือสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยสวิตเซอร์แลนด์ขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับ ได้คะแนนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของสกุลเงิน และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยับขึ้นมาสองอันดับมาติดในอันดับ 5 จากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในธุรกิจและประสิทธิภาพของรัฐบาล
ประเทศในเอเชียต่างเข้ามาติดอันดับในรายงานอีกหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อยู่อันดับ 32 เป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดถึง 11 อันดับ เนื่องจากได้คะแนนสูงในส่วนประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและสภาพธุรกิจที่ดีขึ้น
โดยประเทศไทย (25) ขยับขึ้นมา 5 อันดับ จากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ที่เหลือคือ ไต้หวัน (16) และฟิลิปปินส์ (46) มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ขณะที่จีน (14) และเกาหลีใต้ (28) ปรับลดลงมาหนึ่งอันดับ ที่น่าผิดหวังคือญี่ปุ่น (30) ซึ่งร่วงลงมา 5 อันดับจากเศรษฐกิจที่ซบเซา หนี้ของรัฐบาล และบรรยากาศทางธุรกิจที่อ่อนแรงลง
นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุโรป ยกเว้นสวิตเซอร์แลนด์และไอร์แลนด์ ต่างได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งปกติแล้วจะเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง กลับได้อันดับไม่ดีอย่างเคย
ชานชุนซิง รมว.กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์โพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ว่า “ นี่เป็นข่าวที่สร้างกำลังใจมาก แต่เราต้องพยายามสร้างโอกาสต่อไปเพื่อประชาชนและธุรกิจของเรา”
เขาระบุว่า สิงคโปร์ไม่สามารถแข่งขันด้านราคา หรือขนาดได้ แต่ควรเน้นที่ความเชื่อมโยง คุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ ประเทศจำเป็นต้องงัดเอาความน่าเชื่อถือและมาตรฐานมาสู้ และยังคงต้องเป็นที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับหุ้นส่วนและการประสานความร่วมมือกัน
นอกจากนี้ สิงคโปร์ต้องกระจายตลาดให้มากขึ้น มีการเปิดกว้าง และเชื่อมโยงกับคนเก่ง เทคโนโลยี ข้อมูล และสภาพคล่องทางการเงิน
“ แนวโน้มเศรษฐกิจอาจผันผวน ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการค้าและการกีดกันทางการค้า แต่ยังคงมีโอกาสสำหรับเราที่จะคว้าไว้ด้วยกัน เราจะสร้างอย่างต่อเนื่องในสิ่งที่เราประสบความสำเร็จ และอยู่กับพื้นฐานที่ดีของเรา” รมว.ชานกล่าว