มาเลย์จ่อส่งขยะพลาสติก 3 พันตันกลับต้นทาง
กัวลาลัมเปอร์ (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 28 พ.ค.มาเลเซียจะส่งขยะพลาสติกจำนวน 3 พันตันกลับหลายประเทศที่เป็นต้นทาง รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุ ถือเป็นประเทศล่าสุดในเอเชียที่ปฏิเสธขยะจากประเทศที่ร่ำรวย
ในปีที่แล้ว มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางหลักของโลกสำหรับขยะพลาสติกหลังจากจีนประกาศแบนการนำเข้าขยะ ส่งผลกระทบกับขยะจำนวนกว่า 7 ล้านตันต่อปี
โรงงานรีไซเคิลขยะหลายสิบแห่งผุดขึ้นมาในมาเลเซีย โดยที่หลายแห่งไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินการและชุมชนต่างร้องเรียนเข้ามาถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
โหยวบียิน รมว.กระทรวงพลังงาน เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ระบุว่า ขยะ 60 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะถูกส่งกลับ
“ ตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ที่ถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายภายใต้การสำแดงที่ผิดพลาด เห็นได้ชัดว่าเป็นการละเมิดหฎหมายสิ่งแวดล้อมของเรา” โหยวกล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากมีการตรวจสอบการจัดส่งที่ท่าเรือคลัง ซึ่งตั้งอยู่ชายขอบกรุงกัวลาลัมเปอร์
ทางการมาเลเซียระบุว่า ขยะเหล่านี้เป็นขยะที่ไม่เป็นที่ต้องการมาจากประเทศต้นทางอย่างน้อย 14 ประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร เธอระบุว่า พลเมืองในประเทศพัฒนาแล้วยังไม่ตระหนักเรื่องการสร้างขยะ ซึ่งพวกเขาคิดว่ารีไซเคิลได้ แต่ที่จริงแล้วส่วนใหญ่ถูกทิ้งในมาเลเซีย
บริษัทรีไซเคิลขยะที่มีฐานในสหราชอาณาจักรได้ส่งออกขยะพลาสติกมากถึง 5 หมื่นตันมาที่มาเลเซียในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เธอกล่าว โดยไม่ได้ระบุชื่อบริษัทอย่างเจาะจง เธอกล่าวว่ามาเลเซียจะสอบถามไปยังรัฐบาลต่างชาติเพื่อให้สอบสวนในเรื่องนี้
“ เราขอให้ชาติที่พัฒนาแล้วทบทวนการจัดการขยะพลาสติกและหยุดการส่งขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนา ” เธอกล่าว “หากคุณส่งมาที่มาเลเซีย เราจะส่งคืนกลับไปอย่างไร้ความปรานี”
โดยก่อนหน้านี้ มาเลเซียได้ส่งคืนขยะพลาสติกปนเปื้อนจำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์กลับไปที่สเปน
ขยะพลาสติกที่ไม่เหมาะจะรีไซเคิลจะถูกเผา ซึ่งจะปล่อยสารเคมีเป็นพิษเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก หรือ ลงเอยด้วยการฝังกลบ ซึ่งจะมีสารปนเปื้อนรั่วอยู่กับดินและแหล่งน้ำ
ในเดือนพ.ค.นี้ ประมาณ 180 ประเทศตกลงกันที่จะมีการแก้ไขอนุสัญญาบาเซล (ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด) เพื่อทำให้การค้าทั่วโลกด้านขยะพลาสติก มีความโปร่งใสและมีการกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก ได้ร่วมลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบันกับข้อตกลงของอนุสัญญาที่มีอายุ 30 ปีนี้.