มาเลเซียเข้าร่วมศาลอาญาระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. รมว.กระทรวงทรัพยามนุษย์ระบุว่า มาเลเซียได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนสถาบันที่กำลังมีปัญหาในเวลาที่ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์มากขึ้น
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เป็นศาลอาชญากรรมสงครามถาวรเพียงองค์กรเดียวในโลก และมีเป้าหมายเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีการทารุณกรรมที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งศาลระดับประเทศไม่สามารถทำได้ หรือไม่มีเจตนาจะทำ
แต่ศาลในกรุงเฮ้ก ของเนเธอร์แลนด์แห่งนี้กำลังประสบปัญหาความเชื่อมั่น หลังมีคำตัดสินให้จำเลยซึ่งตกเป็นเป้าสายตาของชาวโลกพ้นผิด นอกจากนี้ ยังมีกรณีของบุรุนดี ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ออกจากการเป็นสมาชิก ICC ในปี 2560 และฟิลิปปินส์ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเช่นกัน
รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งมีการปฏิรูปแนวคิดใหม่ หลังได้เข้าสู่อำนาจในปีที่แล้ว ได้ปฏิญาณว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก ICC และ M Kula Segaran รมว.กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ยืนยันว่า ประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาการก่อตั้งศาลเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยมาเลเซียเป็นสมาชิกรายที่ 124 ของศาลนับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2545
“ จากการเข้าร่วม ICC ในตอนนี้ มาเลเซียมีบทบาทสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” Segaran ซึ่งสนับสนุนมายาวนานเพื่อให้มาเลเซียเข้าเป็นสมาชิกของ ICC กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ AFP
Saifuddin Abdullah รมว.กระทรวงต่างประเทศลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้ง ICC หลังจากคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบความเคลื่อนไหวนี้ โดยกระทรวงต่างประเทศยืนยันในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา
ICC ประสบกับภาวะการเสื่อมถอยในเดือนม.ค. เมื่อผู้พิพากษาตัดสินให้ประธานาธิบดี Lauren Gbagbo ของไอวอรีโคสต์พ้นผิด จากการกระทำให้เกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ว่าศาลแห่งนี้ยังมีความเหมาะสมกับจุดประสงค์ดั้งเดิมหรือไม่
การตัดสินใจของบุรุนดีในการถอนตัวมีขึ้นหลังจากหัวหน้าอัยการของ ICC ทำการสอบสวนในปี 2559 ว่าอาจมีการก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติในประเทศแอฟริกากลางแห่งนี้ในระหว่างที่เกิดวิกฤตการเมือง
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์มีประกาศในเดือนมี.ค.ปีที่แล้วว่า เขากำลังผลักดันให้มีการถอนตัวจากสนธิสัญญาการก่อตั้งศาล เนื่องจาก ICC กำลังดำเนินการสอบสวนสงครามปราบยาเสพติดของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก.