รถยนต์ไฟฟ้าเปลี่ยนธุรกิจน้ำมันให้เป็นโอกาส
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอาจส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวใน 10 ปีข้างหน้า จึงเป็นความท้าทายต่อธุรกิจน้ำมันและโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจอื่น ๆ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าครองตลาดมากขึ้น เช่น การลงทุนในสถานีชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ ธุรกิจที่นำแบตเตอรี่มาใช้ใหม่ (reuse) และการลงทุนใน startup ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ เป็นต้น
จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าราว 5 ล้านคันทั่วโลก แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดและมีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าราว 2.5% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 61%ต่อปี (ในช่วงปี 2012-2018) จากปี 2012 ที่มียอดขายเพียง 1 แสนคัน เพิ่มเป็น 2 ล้านคันในปี 2018 ซึ่งปัจจุบันจีน และสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุด 2 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 55% และ 18% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลกตามลำดับ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลง สมรรถนะและราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรือที่เรียกว่ารถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combusion Engine: ICE) นโยบายส่งเสริมของภาครัฐ กระแสรักษ์โลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าและระยะเวลาในการชาร์จไฟ เป็นต้น ซึ่งหลายหน่วยงาน เช่น Bloomberg New Energy Finance (BNEF), BP, OPEC, ExxonMobil, International Energy Agency (IEA) ได้คาดการณ์การเติบโตของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกใน 20 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มขยายตัวสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 17%-26%ต่อปีโดยอาจมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนทั่วโลก 150-550 ล้านคันภายในปี 2040 คิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 31%-55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าอาจทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโลกชะลอตัวใน 10 ปีข้างหน้า BloombergNEF ประเมินว่า ในปี 2019 จำนวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่มาแทนการขับขี่รถยนต์แบบ ICE เทียบได้กับความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่จะลดลง 9.6 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นปริมาณที่ลดลงน้อยมากหากเทียบกับการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลก โดยจากข้อมูลในปี 2019 พบว่า การเติบโตของ
อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 ซึ่งมีอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 99.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปี 2019 มีอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ออกนโยบายทยอยลดการขับขี่รถยนต์ ICE เช่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน แคนาดา ได้วางเป้าหมายยกเลิกการใช้รถ ICE ภายในปี 2040 โดยเริ่มจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลก่อน ดังนั้นเมื่อจำนวนรถ ICE เริ่มชะลอตัว ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มครองตลาดมากขึ้น ผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันจะเริ่มมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ Wood Mackenzie คาดว่าในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลง และมาถึงจุดสูงสุดราวปี 2035 แล้วจะค่อย ๆ ลดลงในที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลลบต่อธุรกิจน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบันการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ซึ่งจากสถิติของกรมการขนส่งทางบก ในปี 2018 เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เป็น HEV และ PHEV รวมกันมีจำนวนราว120,000 คัน และ BEV มีประมาณ 150 คัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.2% ของจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดทั่วประเทศ แต่รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการลงทุนและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้มากขึ้น เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและลดภาษีสรรพสามิตสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI การสนับสนุนด้านเงินลงทุนสำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2036 ไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV และ BEV จำนวน 1.2 ล้านคัน และสถานีชาร์จไฟฟ้า 690 สถานีทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะมาช้าหรือเร็วเพียงใด อีไอซีมองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปตามกระแสโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนั่นคือโอกาสทางธุรกิจเพื่อเตรียมรับมือกับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาถึง
แม้ว่าการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นความท้าทายต่อธุรกิจน้ำมัน แต่อีไอซีมองว่า จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายไปสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะเติบโตไปตามการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ กล่าวคือเจ้าของสถานีบริการน้ำมันอาจขยายจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสถานที่ของตัวเอง เพื่อใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่รวมถึงเป็นการดึงดูดให้ผู้ขับขี่เข้ามาใช้บริการในสถานีเพื่อเพิ่มรายได้ในส่วนอื่น เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟในสถานีบริการ ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ปี 2018 ไทยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าราว 220 สถานี ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตึกสำนักงานที่ทันสมัย ทั้งนี้อีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการยังมีโอกาสขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยเมื่อเทียบอัตราส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่อสถานีให้บริการชาร์จไฟในช่วงปี 2017-2018 สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของไทย 1 สถานี รองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV และ PHEV เฉลี่ยถึง 62 คัน ในขณะที่ประเทศอื่นที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 6,7 และ 17 คัน ตามลำดับ นอกจากนี้เอกชนที่สนใจลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า สามารถขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีรายได้ 5 ปี เป็นต้น
อีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการสามารถเริ่มจากการเข้าไปลงทุนในบริษัทรีไซเคิลแบตเตอรี่ หรือ startup ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ สำหรับการขยายธุรกิจดังกล่าวในประเทศอาจต้องรอให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโตจนถึงจุดที่มีปริมาณแบตเตอรี่รถที่เสื่อมสภาพมากพอที่จะทำให้การรีไซเคิลคุ้มทุน ส่วนธุรกิจการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่(reuse) ผู้ประกอบการสามารถเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็น integrator นำแบตเตอรี่ที่หมดอายุแล้วมาใช้เก็บพลังงานไฟฟ้า หรือเป็นตัวกลางในการขายแบตเตอรี่ใช้แล้วให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่น
แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านจากการขับขี่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะทำให้ความต้องการน้ำมันชะลอตัวซึ่งเป็นความท้าทายต่อบริษัทน้ำมัน แต่ภายใต้ความท้าทายยังมีโอกาสที่ทั้งบริษัทน้ำมันและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นสามารถขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าได้ ในไม่ช้าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปตามกระแสโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนั่นคือโอกาสทางธุรกิจที่ควรเตรียมรับมือกับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาถึง