เด็กม.ปลายอินโดฯคว้าแชมป์วาดการ์ตูนยูนิเซฟ
ริซกะ ไรซะ ฟาติมะห์ รามลิ นักเรียนวัย 17 ปี จากมากัซซาร์ สุลาเวสีใต้ คว้าแชมป์รางวัลการประกวด Comics Uniting Nations หรือการประกวดวาดการ์ตูนระดับโลกของยูนิเซฟ โดยผลงานของเธอ คิปตา มีจุดประสงค์ที่จะช่วยให้เด็กและวัยรุ่นปลอดภัยจากความรุนแรงทั้งในและนอกโรงเรียน
คิปตา คัวละครหลัก คือซูเปอร์ฮีโร สมมติที่คอยมอบสมุดวาดรูปให้กับเด็ก ๆ เพื่อวาดรูปสิ่งของและทำให้สิ่งของเหล่านั้นมีชีวิตขึ้นมา รวมถึงเป็นการหยุดการใช้ความรุนแรงและการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนอีกด้วย
การประกวดวาดการ์ตูนเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค.ปีก่อน โดยได้มีการรับสมัครนักวาดทั้งเด็ก และวัยรุ่นให้สร้างสรรค์ซูเปอร์ฮีโรจากการ์ตูน ซึ่งจำเป็นต้องต่อกรกับคาร์แร็คเตอร์อย่าง เดอะ ไซเลนซ์ ที่มีพลังเหนือธรรมชาติและสามารถหยุดเด็ก ๆ ไม่ให้พูดหรือต่อต้านความรุนแรงภายในและนอกโรงเรียน
ทางยูนิเซฟระบุว่า มีผลงานที่เข้าร่วมการประกวดเกือบ 3,600 ชิ้น จากทั้งหมดกว่า 130 ประเทศ และมีการโหวตมากกว่า 23,000 ครั้ง บนเว็บไซต์ของการประกวดครั้งนี้เพื่อร่วมกันเฟ้นหาผู้ชนะ
ในการสัมภาษณ์ผ่านข้อความกับทางสื่อจาการ์ตาโพสต์ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ริซกะระบุว่า เธอเริ่มวาดรูปตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาเนื่องจากพี่ชายและพี่สาวของเธอทั้งชื่นชอบการอ่านหนังสือการ์ตูน และเล่นวิดีโอเกม อย่าง สแลมดังก์ และเกมลอสต์ซาก้า เธอบอกว่า “หนูเริ่มโดยการลอกสไตล์การวาดมาจากหนังสือการ์ตูนหรือไม่ก็เกมค่ะ และการวาดรูปก็กลายเป็นงานอดิเรกของมาจนถึงตอนนี้”
หลังจากเจอโฆษณาการประกวดวาดรูปของทางยูนิเซฟบนอินสตาแกรม ริซกะระบุว่าแรกเริ่มเธออยากจะเข้าร่วมการประกวดเพื่อหาประสบการณ์และเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เธอระบุว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการถูกกลั่นแกล้งด้วยคำพูดช่วงเรียนมัธยมปลายปีแรก เหตุการณ์ดังกล่าวยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธีมของการประกวด เธอระบุว่า “ในตอนนั้น หนูไม่รู้เลยว่าควรทำอย่างไรดี เพราะเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับเพื่อนของหนูเหมือนกัน และหนูคิดว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไป”
ริซกะบอกว่า คิปตา เกิดขึ้นมาอย่างกะทันหัน ตอนที่เกือบจะถึงเวลาส่งผลงาน เธอบอกว่า “ก่อนหน้านั้น หนูมีตัวละครที่คิดไว้อยู่ประมาณ 3 ตัว ซึ่งหนูได้เพื่อนร่วมห้องมาช่วยด้วย จนกระทั่งจู่ๆหนูก็คิดว่าคาแร็คเตอร์พวกนี้มันซ้ำกับคนอื่นมากเกินไป หนูก็เลยเริ่มสร้างตัวละครใหม่ โดยแรงบันดาลใจในการสร้างคิปตาเกิดขึ้นมาไม่รู้ตัวตอนที่หนูกำลังวาดรูปเล่น แล้วเพื่อนของหนูก็ช่วยคิดเรื่องแบบร่าง ๆ ขึ้นมาค่ะ”
จากแถลงการณ์ของยูนิเซฟ คิปตาระบุว่า เธอสร้างคิปตาเพื่อเรียกความสนใจในประเด็นความรุนแรงและการกลั่นแกล้งกันของเด็กในอินโดนีเซีย และเด็ก ๆ ทั่วโลก ที่เกิดขึ้นทุกวัน “ตอนที่หนูกำลังวาด หนูรู้สึกว่าตัวละครของหนูมีชีวิต และหนูมีพลังควบคุมพวกคนที่รังแกคนอื่นได้ หนูหวังว่าหนูจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะเด็กๆ เพื่อให้เขาได้เล่าเรื่องของตัวเอง และถ้าพวกเขาไม่อยากบอกออกมาตรง ๆ ก็ให้บอกออกมากผ่านการวาดรูปก็ได้ค่ะ”
รางวัลของริซกะ คือโอกาสการได้ร่วมงานกับกลุ่มนักวาดมืออาชีพเพื่อสร้างหนังสือการ์ตูนฉบับเต็มที่มีตัวละครคิปตาร่วมอยู่ด้วย หนังสือการ์ตูนของเธอจะถูกนำมาเสนอให้กับผู้นำโลก ในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สหประชาชาติ ในเดือน ก.ค. ที่จะถึง รวมถึงจะยังได้แจกจ่ายให้กับโรงเรียนและเด็ก ๆ ทั่วโลก
เมื่อถูกถามว่าเธออยากจะเป็นศิลปินวาดการ์ตูนอย่างจริงจังในอนาคตหรือไม่ ริซกะตอบว่า “จริง ๆ แล้วหนูว่าการวาดการ์ตูนค่อนข้างยากค่ะ หนูเคยคิดว่าจะเป็นนักวาดการ์ตูนเหมือนกันตอนที่หนูติดตามการ์ตูนเรื่องบาคุมัง แต่ว่าตอนนี้มันเป็นแค่แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของหนูเท่านั้นค่ะ”.