กสิกรไทยชี้ส่งออกปีนี้ลบมากกว่า 5%
ภายหลังกระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการส่งออกเดือนต.ค. ลดลงถึง 8.1% ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ จะลดลงมากกว่า 5% ดั่งที่เคยคาดการณ์กันเอาไว้เดิม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า การส่งออกในเดือนต.ค.2558 หดตัวลงมากกว่าที่คาด ที่ 8.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่ลึกที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี (แย่กว่าที่ตลาดคาดที่ติดลบ 6.95% และต่ำลงจากที่ติดลบ 5.51% ในเดือนก.ย.2558) ขณะที่หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่เติบโตถึง 469.9% แล้ว มูลค่าการส่งออกในเดือนต.ค.2558 จะติดลบถึง 9.6%
ทั้งนี้การส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นับจากต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 หดตัวลงถึง 5.32% ซึ่งตอกย้ำความเสี่ยงที่ว่า มูลการส่งออกในภาพรวมของไทยในปี 2558 มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้
การส่งออกที่ติดลบค่อนข้างลึกในเดือนต.ค.2558 เป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเปรียบเทียบกับฐานมูลค่าส่งออกที่สูงในเดือนต.ค.2557 ซึ่งทะลุเกินระดับ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกไปตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน กลุ่มอาเซียนเดิม 5 ประเทศ และอินเดีย ในเดือนต.ค.2558 หดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน ขณะที่การส่งออกไปกลุ่ม CLMV ก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน
ราคาสินค้าส่งออกในเดือนต.ค.2558 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในช่วงระหว่างเดือน
การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกรายการสำคัญ ยังไม่เป็นภาพที่ต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และอัญมณี และเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำ ขณะที่เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ/ส่วนประกอบ และทองคำ ที่ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นในเดือนต.ค.2558 นั้น ผลส่วนหนึ่งคงเป็นอานิสงส์มาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน
แนวโน้มการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2558 และภาพรวมในปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยยังคงไม่มีภาพที่ชัดเจนมากนักในขณะนี้ ขณะที่การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็น่าจะอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2558 นี้ มีความเสี่ยงที่จะติดลบมากกว่า 5% ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการไว้สำหรับกรณีพื้นฐาน
ทั้งนี้มองว่า มูลค่าการส่งออกระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.2558 จะยังคงเผชิญแรงฉุดจากผลทางด้านราคาสินค้าส่งออกที่น่าจะยังทรงตัวในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน (โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่ราคาเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน และโภคภัณฑ์โลหะในตลาดโลก) และแม้ว่าราคาส่งออกของสินค้าเกษตร และอาหารบางประเภท อาจจะเริ่มทรงตัวได้บ้าง เพราะหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกเผชิญกับภาวะภัยแล้ง แต่ก็คาดว่า ปริมาณการส่งออกก็อาจจะยังไม่เร่งตัวขึ้นมากเพียงพอที่จะชดเชยแรงฉุดของภาพรวมได้
นอกจากนี้สัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ ของไทย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และกลุ่ม ASEAN เดิม 5 ประเทศ ที่อาจจะยังไม่กลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้ ก็จะยังเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้สัญญาณเชิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกในหลายๆ หมวด จะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปีข้างหน้า