เฟซบุ๊กรับมือช้าเกินกับวิกฤตในเมียนมา
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.เฟซบุ๊กระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทเคลื่อนไหวช้าเกินไปในการรับมือกับข้อความสร้างความเกลียดชังในเมียนมาที่ก่อให้เกิดวิกฤตโรฮิงญา
โดยแถลงการณ์ของบริษัทมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากผลการสืบสวนของสื่อรอยเตอร์ที่เปิดเผยออกมาว่า เฟซบุ๊กล้มเหลวในการกำจัดโพสต์ที่สร้างความแตกแยกเกลียดชังที่ส่งผลต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญาประมาณ 700,000 คนได้อพยพลี้ภัยทิ้งบ้านเรือนของพวกเขาในปีที่แล้ว หลังจากทหารเมียนมาเข้าปราบปรามครั้งใหญ่ที่ทางสหรัฐฯ ประณามว่าเป็นการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ โดยปัจจุบัน ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศ
“ ความรุนแรงเรื่องชาติพันธุ์ในเมียนมาเป็นเรื่องที่สะเทือนใจมาก และเราช้าเกินไปที่จะป้องกันไม่ให้มีการส่งข้อมูลผิดๆและข้อความสร้างความเกลียดชังบนเฟซบุ๊ก ” เฟซบุ๊กระบุ
โดยเรื่องราวของรอยเตอร์ได้เปิดเผยถึง ความทุ่มเทของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่นานหลายปีเพื่อต่อสู้กับข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่เฟซบุ๊กครองตลาด และเป็นที่ซึ่งเฟซบุ๊กถูกใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นซ้ำๆให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงด้านชาติพันธุ์
เห็นได้ชัดจากเมื่อต้นปี 2559 ที่มีมีพนักงานเพียง 2 คนในเฟซบุ๊กที่พูดภาษาพม่าได้และทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบโพสต์ที่มีปัญหา
ในแถลงการณ์ที่โพสต์ออนไลน์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. เฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทมีการใช้เครื่องมือในการกำจัดข้อความเกลียดชังโดยอัตโนมัติ และจ้างงานผู้ที่ใช้งานภาษาพม่าได้เพื่อตรวจสอบโพสต์ ซึ่งเป็นการดำเนินการของบริษัทหลังซีอีโอมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเข้าให้ปากคำกับส.ว.สหรัฐฯในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยบริษัทระบุว่า มีการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่ากว่า 60 คนในเดือนมิ.ย. และมีแผนจะจ้างอย่างน้อย 100 คนภายในสิ้นปีนี้
สื่อรอยเตอร์พบว่า จากการสุ่มตัวอย่าง มีมากกว่า 1,000 โพสต์ หรือความเห็น ภาพและวิดีโอ ที่แสดงการดูหมิ่น เหยียดหยาม และโจมตีชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมอื่นๆบนเฟซบุ๊กในสัปดาห์ที่แล้ว โดยโพสต์แย่ๆ ซึ่งรวมถึงภาพลามกอนาจารที่ต่อต้านชาวมุสลิมมีการโพสต์บนเฟซบุ๊กมานานถึง 6 ปี และยังมีโพสต์อีกมากมายที่กระตุ้นให้มีการทำร้ายชาวโรฮิงญา
ปัจจุบัน เฟซบุ๊กไม่ได้มีการจ้างงานพนักงานเองแม้แต่คนเดียวในเมียนมา บริษัทพึ่งพาระบบจ้างงานจากต่างประเทศ ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่มีชื่อเรียกว่า Project Honey Badger เพื่อจับตาเฝ้าระวังโพสต์ที่สร้างความเกลียดชัง และโพสต์ที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ อ้างอิงจากการสืบสวนของรอยเตอร์
เพราะระบบของเฟซบุ๊กมีความยุ่งยากมากที่จะแปลตัวอักษรภาษาพม่า บริษัทจึงต้องพึ่งพาผู้ใช้งานเป็นหลักในการรีพอร์ทข้อความที่สร้างความเกลียดชังในเมียนมา
นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า พวกเขาเคยเตือนเฟซบุ๊กมานานหลายปีแล้วว่า แพลตฟอร์มนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาและมุสลิมอื่นๆในเมียนมา
ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. เฟซบุ๊กระบุว่า ได้มีการกำจัดกลุ่มและองค์กรที่สร้างความเกลียดชังในเมียนมาออกไปจากแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก.