น้ำท่วมเมียนมาหนัก อพยพกว่าแสนคน
เมื่อวันที่ 1 ส.ค.มีความกังกลว่าน้ำจะล้นเขื่อนกั้นน้ำหลังฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ทำให้ประชาชนกว่า 130,000 ต้องอพยพหนีน้ำออกบ้านเรือน และมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 12 ราย
พื้นที่การเกษตรที่กว้างใหญ่ทั่ว 4 เมืองต้องจมอยู่ใต้น้ำที่เป็นโคลน ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามจะเข้าไปให้ถึงหมู่บ้านโดยทางเรือเพื่อไปมอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถละทิ้งบ้านของตัวเองได้ หรือมีบางรายที่ปฏิเสธจะออกจากบ้าน
เหนือเมืองมะเดาะในภูมิภาคหงสาวดี อีกไม่กี่นิ้วน้ำก็จะท่วมเต็มความจุของเขื่อนกั้นน้ำซึ่งตอนนี้น้ำไหลแรงมาก ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กลัวว่าฝนจากฤดูมรสุมที่ตกลงมาสะสมอีก อาจเพิ่มระดับความเสียหายให้รุนแรงได้
“ หากเขื่อนกั้นน้ำนี้ไม่แข็งแรงพอจะต้านน้ำท่วมครั้งหน้า หลายหมู่บ้านจะตกอยู่ในความเสี่ยงสูง” Hlaing Min Oo หัวหน้าทีมกู้ภัยกล่าวกับผู้สื่อข่าว AFP โดยเขาเป็นคนควบคุมบรรดาจิตอาสาให้ลำเลียงเรือที่ขนส่งอาหารไปให้เหยื่อผู้ประสบอุทกภัย
“ ช่วงเวลานี้ มีโอกาสน้อยมากที่ระดับน้ำจะลดลง” เขากล่าว
ยังคงมีคำสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ทั่วภูมิภาคหงสาวดี รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และเขตตะนาวศรี ให้พ้นจากพื้นที่ 36 เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก อ้างอิงจากรายงานของทางการเมียนมา
“ ประชาชนมากกว่า 130,000 คนจาก 28,000 ครัวเรือนต้องกลายเป็นผู้อพยพพลัดถิ่นจากเหตุน้ำท่วม ” Phyu Lei Lei Tun รมว.กระทรวงสวัสดิการสังคมระบุ โดยตัวเลขเป็นการประเมินจนถึงเช้าวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา
มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถอพยพออกจากบ้านเรือนได้ หรือเลือกที่จะอาศัยอยู่ในบ้านตัวเองที่มีน้ำท่วมต่อไป และพวกเขาหวังว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงในไม่ช้า
ผู้สื่อข่าว AFP เดินทางลงพื้นที่นานหลายชั่วโมงเข้าไปสำรวจหมู่บ้าน Maubin ในเขตสเวจินโดยทางเรือ ผ่านบ้านเรือนจำนวนมากที่จมอยู่ใต้น้ำครึ่งหลัง หลายหลังยังมีประชาชนนั่งอยู่บนหน้าต่างบ้านชั้นสอง ล้อมรอบด้วยน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง
วัดแห่งหนึ่งที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ 5 รูปเป็นเหมือนจุดรับบริจาคข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและบิสกิตใน Maubin ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งหมด 108 ครัวเรือน
“ บ้านของเราอยู่ข้างตลิ่งแม่น้ำ เราเลยต้องอพยพหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนที่สูง” Ohn Myint วัย 54 ปีกล่าว เขาชี้ไปบนพื้นที่บนเขาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2-3 ก.ม.
Win Kyu เกษตรกรและชาวประมงวัย 40 ปี แสดงความกังวลเกี่ยวกับทุ่งนาของเขาที่ตอนนี้จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
“เรามีประสบการณ์น้ำท่วมแบบนี้ย้อนไปในปี 2543 ปีนี้ถือว่าแย่ที่สุดตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตยากลำบากมาก” เขากล่าว
ทั้งนี้ เมียนมาเพิ่งเข้าสู่ช่วงพีคของฤดูมรสุม แต่ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ประสบภัยธรรมชาติรุนแรงเช่นนี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทำให้สันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกในแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว มวลน้ำมหาศาลที่ทะลักมาจากเขื่อนทำให้หลายหมู่บ้านพังเสียหาย มีรายงานผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายจำนวนมากจนถึงตอนนี้.