“โบว์ เบเกอรี่” เสิร์ฟคุณภาพและความตั้งใจสู่ลูกค้า
จุดเริ่มต้นของธุรกิจเกิดขึ้นได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการผู้นั้นจะผ่านเหตุการณ์อะไรเข้ามาในชีวิต จนสามารถจุดประกายไอเดียของการทำธุรกิจได้ “วิสิทธิ์ สดแสงเทียน” ครูหนุ่มผู้ซึ่งชีวิตผกผันจนทำไห้ต้องยุติบทบาทของการเป็นแม่พิมพ์แห่งชาติ และผันตัวเองเข้าสู่โลกของการทำธุรกิจในที่สุด
–พลิกวิกฤตสู่โอกาส
วิสิทธ์ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบว์ เบเกอรี่ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของการทำธุรกิจว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 14 ปีก่อน โดยในช่วงนั้นตนซึ่งเคยเป็นครูของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งทำให้ตนต้องยุติบทบาทดังกล่าวลง โดยที่ขณะนั้นแฟนของตนได้ทำเบเกอรี่เพื่อส่งให้กับโรงเรียนต่างๆ เรียกว่ามีอุปกรณ์เตาอบ และคนงาน 1 คนพร้อมอยู่ตรงหน้า ขณะที่ตนเองก็จบมาทางด้านบริหารธุรกิจ และต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการต่อยอดการทำเบเกอรี่ของแฟนให้กลายเป็นธุรกิจขึ้นมาอย่างจริงจัง
เมื่อตั้งใจอย่างมุ่งมั่นจึงเริ่มออกหาลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ต่างๆ เพื่อนำเสนอเบเกอรี่ไปวางจำหน่าย โดยมีผู้ที่ให้ความไว้วางใจในคุณภาพ และรสชาติเบเกอรี่ของตนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ “โบว์” ได้รับคัดเลือกให้วางจำหน่ายที่ร้าน อะเมซอน (Café Amazon) ,ร้านในเครือซีพี โดยเป็นการวางจำหน่ายเบเกอรี่ที่ร้านคัดสรร ภายในเซเว่นอีเลฟเว่น (KUDSAN Bakery & Coffee) ,ท็อปส์ มาร์เก็ต ,อินทนิน คอฟฟี่ (Inthanin Coffee) ,เดอะมอลล์ (The Mall) และเทสโก้ โลตัส (Tasco Lotus)
“ เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ โบว์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่ม Startup ธุรกิจขึ้นมา จนได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรม 7 Inventor Award รางวัลสุดยอดนักประดิษฐ์ 2016 และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดีเด่นจากสถาบันอาหาร รางวัลท้อป 20 ระดับประเทศผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดีเด่นจากสถาบันอาหารในงาน ThaiFEX 2015 เป็นต้น ”
–เล็งเป้ารายได้โต 20%
ส่วนกลยุทธ์ในการการขยายตลาดปีนี้นั้น บริษัทได้รับการคัดเลือกให้นำผลิตภัณฑ์ประเภทเครปเค้ก อาทิ รสชาเขียว ,สตอร์เบอร์รี่ และเรนโบว์ เข้าจำหน่ายที่ร้านกาแฟสตาร์บัค (Starbucks) รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์เข้าจำหน่ายในรูปแบบของเบเกอรี่สดในร้านอเมซอน เฉพาะสาขาที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของเองไม่ใช่รูปแบบแฟรนไชน์อีกกว่า 160 สาขา เพื่อเป็นการนำร่องการจำหน่ายแบบเบเกอรี่สด
นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายการจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นไปสู่ร้านออลคาเฟ่ (ALL Cafe) จากเดิมที่จำหน่ายอยู่แล้วที่ร้านคัดสรรกว่า 450 สาขา รวมถึงจะมีผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายที่ร้าน “เบลลินี่” (Bellinee) ซึ่งเป็นพรีเมี่ยมคาเฟ่ในเครือ ซีพี และก่อนหน้านี้ได้มีผลิตภัณฑ์ประเภทบราวนี่กรอบภายใต้แบรนด์ “บราวโว” ( BrownVo) ไปวางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเรียบร้อยแล้วตั้งต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
“ จากกลยุทธ์การทำตลาดในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะมีรายได้ประมาณ 240 ล้านบาท เติบโตประมาณ 20% จากปีที่ผ่านมาซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท โดยการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนัก ทำให้การขยายสาขาของคู่ค้าของบริษัทมีการชะลอตัว ดังนั้น การจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ในสภาวะแบบนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เรานำเสนอจะต้องมีความน่าสนใจ จึงจะสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคได้ ”
ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยในการสนับสนุนธุรกิจของบริษัทให้สามารถขยายตัวได้ตามที่วางแผนเอาไว้ ผ่านการให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพราะบริษัทต้องมีการลงทุนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์ และการสต็อกวัตถุดิบ เป็นต้น
–มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย
หากถามถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “โบว์” วิสิทธิ์ บอกว่า อยู่ที่การมีผลิตภัณฑ์หลากหลายกว่า 400-500 รายการให้ลูกค้าได้เลือก อีกทั้งยังสามารถทำได้ในแบบที่ลูกค้าต้องการนอกเหนือจากที่มีให้เลือก ขณะที่โรงงานการผลิตก็ได้รับมาตรฐาน GMP (หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร) และที่สำคัญคือเรื่องของรสชาติที่อร่อยถูกปากผู้บริโภค
ส่วนภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทมีตำแหน่งทางธุรกิจที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นแบบโรงงานผลิต และไม่ใช่เครื่องจักร แต่เรียกว่าเป็นโฮมเมดกึ่งอุตสาหกรรม โดยต้องการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดเบเกอรี่ ซึ่งในเซเล่นอีเลฟเว่น เราก็มีเป้าหมายในการนำผลิตภัณฑ์แบบพรีเมี่ยมกว่านี้เข้าไปจำหน่าย โดยเป็นพรีเมี่ยมในระดับคุณภาพที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้ในราคาที่ไม่แพง พร้อมยกระดับเบเกอรี่ในร้านกาแฟ หรือที่อื่นๆให้มีคุณภาพมากขึ้น
ขณะที่หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ตนเลือกที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา และยึดหลัก 4 ประการทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “อิทธิบาท 4” ประกอบด้วย 1.ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น) โดยทำงานให้มีความสุข พร้อมนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า 2.วิริยะ (ความพากเพียรในสิ่งนั้น) 3.จิตตะ (ความเอาใจใส่ฝักใฝ่สิ่งนั้น) และ 4.วิมังสา (ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น) โดยพยายามนำสิ่งที่ลูกค้าติติง หรือแนะนำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น.