“ดอยหล่อ”กาแฟสดคุณภาพในราคาเอื้อมถึง
ธุรกิจกาแฟผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจากกระแสความนิยมเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวที่เติบโตขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยมีหลากหลายแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และสร้างธุรกิจให้กับตนเอง กาแฟแบรนด์ “ดอยหล่อ” (DOILOR) ก็คือหนึ่งในทางเลือกสำหรับคอกาแฟที่ Startup ธุรกิจขึ้นมาจากความตั้งใจที่ต้องการมอบรสชาติของกาแฟคั่วสดใหม่ให้กับผู้บริโภค
–เจาะตลาดกาแฟสด
รชฏ บัญญนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคเอส ฟู้ดแอนด์เบฟเวอร์เรจ จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ว่า “ดอยหล่อ” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกว่าที่จะกลายมาเป็นแบรนด์ของธุรกิจกาแฟนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเมล็ดกาแฟไปขายตามร้านขายส่งเมล็ดกาแฟ และร้านกาแฟทั่วไปมาก่อน แต่หลังจากที่พฤติกรรมการบริโภคกาแฟสดเริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทย จึงมีไอเดียในสร้างแบรนด์ขึ้น โดยใช้ชื่ออำเภอเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบโลโก้ให้สอดคล้องกัน ซึ่งในอำเภอดังกล่าวจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อว่า “ผาช่อ” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดจากการกัดเซาะจากน้ำธรรมชาติคล้ายกับแกรนแคนยอนแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยมีลักษณะเป็นเหมือนหินผา และกลายมาเป็นโลโก้ของแบรนด์ “ดอยหล่อ” ในที่สุด
หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการขยายธุรกิจโดยการสร้างร้านต้นแบบ รวมถึงการทำรูปแบบร้านเป็นแบบเค้าท์เตอร์ และขยายสู่ธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชน์ โดยร้านขนาดใหญ่จะออกแบบให้เป็นสไตล์ของโลคอลโมเดิร์น ซึ่งเป็นการผสมผสานนำวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นธรรมชาติ และการตกแต่งแบบสมัยใหม่มาสร้างเป็นจุดดึงดูดความน่าสนใจจากผู้บริโภค
–เลือกเมล็ดคุณภาพคั่วแบบสดใหม่
สำหรับจุดเด่นของกาแฟ “ดอยหล่อ” อยู่ที่การเลือกสรรเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และการคั่วแบบสดใหม่วันต่อวันทุกครั้งก่อนที่จะนำส่งโดยตรงให้กับลูกค้า ทำให้ได้คุณภาพมากกว่าเมล็ดกาแฟที่เก็บค้างสต็อกเอาไว้ ส่งผลทำให้ได้กาแฟที่สดใหม่ และกลิ่นที่หอม อีกทั้งการดีไซน์ร้านที่บ่องบอกถึงเรื่องราว (Story) และความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูอบอุ่นเป็นกันเอง ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสัมผัสรสชาติของกาแฟแท้ ขณะที่แพคเกจของแก้วยังดูสวยแบบมีสไตล์เหมาะสมกับราคา ถือดื่มได้ด้วยความภูมิใจ เรียกว่า แพคเกจดี รสชาติดีในราคาที่เอื้อมถึง
ส่วนช่องทางในการทำตลาดนั้น ปัจจุบันมีแฟรนไชน์อยู่จำนวน 20 สาขาในประเทศ และอีก 5 สาขาที่กรุงพนมเปญ ขณะที่กลยุทธ์การทำตลาดปีนี้จะมุ่งเน้นการทำตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยมองว่าต้องการขยายร้านในรูปแบบของสาขาขนาดใหญ่เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค มากกว่าการทำเป็นรูปแบบเค้าท์เตอร์เพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ได้บรรยากาศความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เท่าใดนัก ที่สำคัญยังไม่สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคได้จดจำ
การทำตลาดในประเทศในรูปแบบของร้านขนาดใหญ่จะมีทั้งในลักษณะของการที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนเอง และการร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจร้านกาแฟของแบรนด์ “ดอยหล่อ” ด้านการทำตลาดต่างประเทศก็มีการวางแผนเอาไว้เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องดูศักยภาพของผู้ที่จะนำแบรนด์ไปทำตลาดก่อนว่าเป็นอย่างไร
“จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ประมาณ 10 ล้านบาท จากเดิมที่บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาทในปี 60”
–แบรนด์ในใจผู้บริโภค
หากถามถึงภาพรวมของธุรกิจที่ต้องการให้เป็นไปในอนาคต รชฏ บอกว่า ต้องการให้ “ดอยหล่อ” เป็นแบรนด์ที่รู้จักในกลุ่มของผู้บริโภคที่ชื่นชอบรสชาติของกาแฟ รวมถึงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคนึกถึงเมื่อต้องการดื่มด่ำกับรสชาติของกาแฟสดแท้ที่หอม รสชาติดี และเป็นสถานที่พักผ่อน หรือนั่งทำงานในบรรยากาศที่ผู้บริโภคคุ้นเคย เรียกว่าเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของผู้บริโภค
ด้านกุญแจที่ใช้สำหรับไขประตูไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจนั้น อยู่ที่การมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยปัจจุบันผู้บริโภคที่เป็นคนไทยหันมารับประทานกาแฟสดมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มลูกค้าเลยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญการควบคุมคุณภาพ และคุณค่าของแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ “ดอยหล่อ” ยังได้ขึ้นชื่อว่า ถูกและดี ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง DNA หรือตัวตนของแบรนด์ได้ ภายใต้สโลแกนของแบรนด์ว่า ปลุกสัมผัสในตัวคุณ ต้องการที่จะทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวยให้นึกถึงกาแฟ ดอยหล่อ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ดื่ม
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนอย่างมากในการขยายธุรกิจของบริษัท โดยสนับสนุนในเรื่องของสภาพคล่อง เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับซื้ออุปกรณ์ในการเพิ่มยอดขาย รวมถึงการวางรากฐานระบบบริหารจัดการภายในออฟฟิต และระบบแฟรนไชน์ให้ได้มาตรฐาน”.