ตำรวจสอบมหาเธร์ปล่อยข่าวลวง
ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซียกำลังถูกสอบสวนในกรณีที่เป็นผู้ปล่อยข่าวลวงต่อสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา
มาซลาน ลาซิม ผู้บัญชาการตำรวจประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า คดีของมหาเธร์เป็น 1 ใน 8 คดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ค.นี้ที่ตำรวจได้รับรายงานมา
“สำหรับคดีเรื่องการปล่อยข่าวลวง เกิดจากการกล่าวอ้างของท่านมหาเธร์ว่า เครื่องบินส่วนตัวซึ่งท่านเช่าเหมาลำเพื่อเดินทางไปที่ลังกาวีมีความผิดปกติเหมือนถูกวินาศกรรมเมื่อวันที่ 27 เม.ย.” เขากล่าวหลังจากเปิดโครงการเฝ้าระวังป้องกันอาชญากรรมที่สถานีตำรวจ Tun H S Lee เมื่อวันที่ 2 พ.ค.
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. มหาเธร์อ้างว่าเครื่องบินเช่าเหมาลำที่จะพาเขาเดินทางไปที่ลังกาวีเกิดความเสียหายคล้ายถูกวินาศกรรมโดยผู้ประสงค์ร้าย
โดยมหาเธร์ ซึ่งเป็นประธานพรรค Parti Pribumi Bersatu ขึ้นเครื่องบินลำนี้ที่สุบังก่อนที่จะได้รับแจ้งจากนักบินว่า ยางของเครื่องบินเส้นหนึ่งถูกเจาะเป็นรู เขาจึงต้องเปลี่ยนไปโดยสารเครื่องบินอีกลำหนึ่ง
สำนักงานการบินพลเรือนของมาเลเซีย (CAAM) ระบุในเวลาต่อมาว่า หลังการตรวจพิสูจน์แล้ว ไม่พบหลักฐานของการก่อวินาศกรรมบนเครื่องบินแต่อย่างใด ยกเว้นแต่มีอากาศรั่วไหลจากยางส่วนหัวเครื่องบินด้านซ้าย และที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ในตอนนั้นเพราะไม่มีอะไหล่สำรอง
“CAAM ไม่พบสัญญาณของการก่อวินาศกรรม การกล่าวหาว่ามีการก่อวินาศกรรมบนเครื่องบินเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก และส่งผลกระทบกับชื่อเสียงของระบบการบินของมาเลเซียและประเทศโดยรวม โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเลือกตั้งที่มีความอ่อนไหว”
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พรรค UMNO มีความเคลื่อนไหวโดยกลุ่มที่เรียกว่า Umno Grassroot Movement ด้วยการมาแจ้งความตำรวจกล่าวหามหาเธร์ โดยประธานกลุ่มคือ Zulkarnain Mahdar ระบุว่า การที่ดร.มหาเธร์กล่าวถึงเรื่องการก่อวินาศกรรม เป็นการชี้นำประชาชนให้รู้สึกวิตกกังวลและรับรู้ถึงความไม่แน่นอน ซึ่งทำให้ประชาชนมีแนวคิดที่ไม่ถูกต้องและต่อต้านพรรครัฐบาล
“ข้อกล่าวหาของดร.มหาเธร์นั้นเลื่อนลอยมาก ความจริงคือเครื่องบินมีปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ดร.มหาเธร์มีเจตนาที่ไม่ดีและพูดโกหกกับประชาชนเพื่อเรียกร้องความสนใจและหวังผลทางการเมือง”
โดยผู้บัญชาการตำรวจมาซลานกล่าวว่า จะทำการสอบสวนมหาเธร์ภายใต้กฎหมายต่อต้านข่าวลวงของปี 2561 นี้ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี ปรับ 500,000 ริงกิต หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
มีการมาแจ้งความกับตำรวจในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีก เช่น การบุกรุก การก่อกวนสร้างสถานการณ์ด้วยการจุดไฟ และมีการพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต
กฎหมายต่อต้านข่าวลวงมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. หลังจากมีการลัดขั้นตอนพิจารณาในสภาอย่างรวดเร็วจากรัฐบาล ท่ามกลางการโจมตีจากฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวซึ่งรู้สึกว่า กฎหมายอาจเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้ที่มีความเห็นต่างจากพรรครัฐบาล
ทั้งนี้ เมื่อถูกถามว่าเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการสอบสวนในเรื่องนี้หรือไม่ ดร.มหาเธร์กล่าวกับสื่อว่า “ผมไม่กังวลเรื่องอะไรทั้งนั้น”.