เมียนมายังรับโรฮิงญากลับไม่ได้
เมียนมาล้มเหลวที่จะจัดการให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 688,000 คนเดินทางกลับรัฐยะไข่ได้อย่างปลอดภัย หลังจากผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้อพยพหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาข้ามพรมแดนมาที่บังคลาเทศเมื่อ 6 เดือนก่อน อ้างอิงจากถ้อยแถลงของหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 12 ก.พ.
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังคงอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวในบังคลาเทศ แม้จะมีการทำข้อตกลงกันระหว่างเมียนมาและบังคลาเทศที่จะประสานความร่วมมือกันส่งผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับคืนสู่เมียนมาแล้วก็ตาม
“ ขอผมพูดชัดๆว่า สภาพในตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับคืนไป” ฟิลิปโป กรันดิ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
กล่าวในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคง ผ่านการประชุมทางไกลจากเมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ที่ผ่านมา เมียนมาให้สถานะชาวมุสลิมโรฮิงญาว่าเป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศ และปฏิเสธที่จะให้สถานะความเป็นพลเมืองของเมียนมาแก่พวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในเมียนมามานานหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม
นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กระตุ้นให้คณะมนตรีความมั่นคงยอมรับว่า กองทัพเมียนมาต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นผู้ผลักดันให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพออกจากรัฐยะไข่ และเธอยังกล่าวว่า นางอองซาน ซูจีต้องตระหนักในความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้
“ ทางคณะมนตรีความมั่นคงต้องทำให้กองทัพเมียนมารับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป และกดดันให้นางซูจีรับรู้ถึงการกระทำที่โหดร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศของเธอ โดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ”
ยูเอ็นกล่าวหาเมียนมาว่ากระทำการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ โดยการบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยออกจากประเทศไป
ทั้งนี้ จีนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของรัฐบาลทหารของเมียนมาก่อนหน้ารัฐบาลนี้ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทน และชี้ว่าเสถียรภาพและความเป็นระเบียบมีมานานแล้วในรัฐยะไข่ โดยหม่าจ้าวซู เอกอัครราชทูตจีนกล่าวว่า วิกฤตชาวโรฮิงญาไม่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน ต้องมีมาตรการมากมายในเมียนมาเพื่อเข้าถึงรากเหง้าของปัญหาที่ก่อให้เกิดความยากจนโดยผ่านการพัฒนาในรัฐยะไข่ เขากล่าว โดยหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสิทธิพลเมืองสำหรับชาวโรฮิงญา
ทางข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า การอพยพอย่างล้นทะลักของชาวโรฮิงญาออกจากเมียนมาลดน้อยลง แต่ยังคงมีอยู่บ้าง โดยมีจำนวนชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยมาที่บังคลาเทศประมาณ 1,500 คนในเดือนนี้
เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยไม่ควรเดินทางกลับเมียนมาจนกว่าจะรู้สึกเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะไม่ตกเป็นเหยื่ออีกในเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ทำให้พวกเขาต้องอพยพออกจากบ้านมาในครั้งแรก
“ ตอนนี้ กลุ่มผู้ลี้ภัยยังไม่มีความเชื่อมั่น หลายคนยังหวาดกลัวเกินกว่าจะเดินทางกลับไป ” เธอกล่าว
ทางข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของยูเอ็นยังเตือนถึงฤดูมรสุมที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมี.ค. โดยเตือนว่า ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง และต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน
เขาเตือนว่า ต้องมีการยกระดับการสนับสนุนจากนานาประเทศต่อรัฐบาลบังคลาเทศให้เป็นระดับภัยพิบัติ นอกจากนี้ ทางยูเอ็นยังต้องการความช่วยเหลือให้ไปถึงผู้อพยพในรัฐยะไข่ และต้องการให้อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติแต่งตั้งทูตพิเศษไปเมียนมา.