ท่องเที่ยวบาหลีกระทบหนักจากภูเขาไฟ
ปัจจัยเสี่ยงจากภูเขาไฟอากุงที่ปล่อยเถ้าภูเขาไฟออกมาในขณะนี้ ส่งผลกระทบด้านลบกับการท่องเที่ยวบนเกาะบาหลี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของอินโดนีเซีย
ความกังวลเรื่องภูเขาไฟระเบิดทำให้ต้องมีการสั่งอพยพประชาชนที่อยู่บริเวณตีนเขามากถึง 40,000 คน นอกจากนี้ ยังทำให้ต้องมีการปิดสนามบินหลักบนเกาะบาหลีจนถึงวันที่ 28 พ.ย. ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงตั้งแต่ภูเขาไฟเริ่มส่งแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่เดือนก.ย.
“ เราเตรียมพร้อมมาก แต่เรากังวลถึงผลกระทบในระยะยาวกับชีวิตของผู้ที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ และผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบนเกาะบาหลี ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า ” Made Patiska ผู้ว่าการเกาะบาหลีระบุ
โดยบอร์ดการท่องเที่ยวบาหลีได้จัดตั้งศูนย์รับมือวิกฤตเพื่อขานรับกับการปะทุของภูเขาไฟ ทั้งความร่วมมือในการจัดหาที่พักฟรีให้กับนักเดินทางที่ตกค้างบนเกาะ 2,315 คน และยังได้จัดตั้งโต๊ะให้บริการด้านกงสุลและตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถจัดการเรื่องพักค้างนานกว่ากำหนดเดิม
ทางตอนใต้ของเกาะ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของนักเดินทางต่างชาติ ยังไม่เห็นผลกระทบโดยทันที่
“ แสงแดดส่องสว่างสดใสทางใต้ของเกาะบาหลีวันนี้ ” กิลดา ลิม ซากราโด โฆษกหญิงของบอร์ดการท่องเที่ยวบาหลีรายงาน
อย่างไรก็ตาม บอร์ดการท่องเที่ยวชี้แจงว่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงตั้งแต่ภูเขาไฟอากุงเริ่มกลับมาปล่อยควันไฟเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย.
จากการคาดการณ์ในปี 2558 โดยสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก ประเมินว่า การท่องเที่ยวจะมีสัดส่วน ถึง 3.2% ของเศรษฐกิจอินโดนีเซียภายในปี 2568
ในบาหลี ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า 4.5 ล้านคนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 นี้ ทำให้การท่องเที่ยวมีสัดส่วนขยายตัวเติบโตมากขึ้นต่อเศรษฐกิจ
โดยก่อนหน้าการเริ่มส่งเสียงคำรามของภูเขาไฟอากุง เกาะบาหลีตั้งเป้าว่าจะมีนักเดินทางมาเยือนเกาะนี้อย่างน้อย 5 ล้านคนในปี 2560 นี้ ซึ่งสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปีที่แล้ว ทั้งนี้ การปะทุของภูเขาไฟส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบินด้วย ทางการต้องสั่งปิดให้บริการสนามบินเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินมากถึง 445 ไฟลท์และผู้โดยสารประมาณ 59,000 คน
จะมีการประเมินและเกาะติดสถานการณ์ทุก 6 ชั่วโมงจากนี้ โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารการบิน
“ ในเวลาเช่นนี้ มีค่าใช้จ่ายสูงและรายได้ที่พลาดเป้าไปมาก ” เอลลิส เทย์เลอร์ จาก FightGlobal
โดยเทเลอร์กล่าวว่า สายการบินมีประกันสำหรับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ แต่ดูท่าจะไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศประเมินว่า สายการบินทั่วโลกสูญเสียรายได้ประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 55,726 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปะทุของภูเขาไฟ Eyjafjallajökull ในไอซ์แลนด์ในปี 2553
สายการบินพยายามหลีกเลี่ยงการขึ้นบินเมื่อมีเถ้าภูเขาไฟในอากาศ เพราะมันสามารถทำความเสียหายให้กับเครื่องยนต์ของเครื่องบินได้.