มาตรการกระตุ้นของรัฐช่วยเศรษฐกิจไทย 2019
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ มาตรการกระตุ้นของรัฐช่วยเศรษฐกิจไทยปี 2019 โตที่ 3% ขณะที่ปี 2020 มีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยที่ 3.2%
GDP ไตรมาส 2/2019 โตชะลอลงที่ 2.3%YOY ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส
ขณะที่ การเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QOQ_sa) ขยายตัวที่ 0.6% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 2.6%YOY ใกล้เคียงกับประมาณการของอีไอซีที่เคยคาดไว้ที่ 2.5%YOY
ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) เศรษฐกิจไทยมีแรงฉุดหลักจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว โดยมูลค่าการส่งออกที่แท้จริงหดตัวมากถึง -5.8%YOY ส่วนการส่งออกบริการหดตัวมากถึง -7.0%YOY ตามการลดลงของรายรับบริการขนส่งและจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 4.4%YOY จากการเร่งตัวของการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนเป็นสำคัญ โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงกลางปีผ่านบัตรสวัสดิการที่มีเม็ดเงินกว่า 1.32 หมื่นล้านบาท
ด้านการผลิต (Production Approach) พบว่า ภาคเกษตรหดตัวที่ -1.1%YOY จากผลกระทบภัยแล้ง ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมลดลงเช่นกันที่ -0.2%YOY จากการผลิตสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงตามการหดตัวของภาคส่งออก ในส่วนของภาคการผลิตด้านอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะมีทิศทางชะลอลงจากไตรมาสแรก สะท้อนว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากการหดตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 2019 ขยายตัวที่ 4.3% แต่หากหักทองคำจะหดตัวที่ -0.4%
อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. พลิกกลับมาเป็นบวกที่ 4.3% แต่เป็นผลมาจากการส่งออกทองคำเป็นหลัก หากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง-0.4% โดยสินค้าหลักที่มีการหดตัวในเดือน ก.ค. ได้แก่ เคมีภัณฑ์และพลาสติก (-9.6%YOY) ข้าว (-27.2%YOY) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-5.9%YOY) และเครื่องจักร(-14.0%YOY) ขณะที่สินค้าที่ขยายตัวได้ดีคือ ผลไม้สด-แช่เย็น-แช่แข็งและแห้ง (43.1%YOY) โลหะและผลิตภัณฑ์หุ้มโลหะบางประเภท (680%YOY) รถปิคอัพ-รถบัสและรถบรรทุก(17%YOY) ยางแท่ง (34.6%YOY) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (3.1%YOY)
การส่งออกไทยในหลายตลาดสำคัญพลิกกลับมาขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 9.8%YOY หลังหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -2.1%YOY มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวคือผลิตภัณฑ์ยาง (27.9%YOY) เครื่องนุ่งห่ม (12.2%YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (21.0%YOY) ด้านการส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่8.0% ได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ (11.5%YOY) ไก่แปรรูป (9.2%YOY) และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (40.1%YOY) ขณะที่การส่งออกไปจีนที่ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือนที่ 6.2% ได้รับผลดีจากการส่งออกผลไม้สด-แช่เย็น-แช่แข็งและแห้ง (117.3%YOY) รถยนต์และส่วนประกอบ (79.4%YOY) และยางพารา (13.4%YOY)
แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท แต่อีไอซีประเมินว่า ผลต่อเศรษฐกิจจะมีจำกัด เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสินเชื่อ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2019ครม. ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท สรุปได้ดังตารางที่ 1 โดยจากการวิเคราะห์ อีไอซีประเมินว่ามาตรการประเภทเงินโอนที่ให้กับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้เงินเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายประเภทสินเชื่อ soft loan ที่มีประมาณ 2 ใน 3 ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสินเชื่อที่จะมีการจัดทำอยู่แล้วแม้ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับสินเชื่อที่ได้ไปอาจจะเป็นการ refinance ซึ่งทำให้เกิดการใช้จ่ายหรือลงทุนใหม่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ มาตรการสินเชื่อยังอาจมีข้อจำกัดจากนโยบายอื่น เช่น มาตรการ LTV ที่ทำให้มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจจะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ขณะที่มาตรการที่อยู่ในรูปแบบเงินโอนนั้น มีแนวโน้มเพิ่มการใช้จ่ายใหม่ได้ดีกว่า เพราะเป็นการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยตรง ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มเติมได้อีก 0.3 percentage point
อีไอซีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2019 เล็กน้อยจากเดิมคาดขยายตัว 3.1% เหลือขยายตัว 3.0%
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัว (แบบ %YOY) ดีขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำเป็นหลัก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ขณะที่ในระยะต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่องตามภาคส่งออกที่ยังเป็นปัจจัยกดดัน รวมถึงภาคเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาคส่งออก อย่างไรก็ดี หากพิจารณาด้านอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YOY) คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.4% ซึ่งสูงกว่าครึ่งปีแรกจากปัจจัยฐานต่ำของปีก่อนที่เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยปี 2020 ยังคงเป็นประเด็นเรื่องสงครามการค้า โดยปีหน้าจะเป็นช่วงที่สหรัฐฯ มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (จะรู้ผลในเดือนพฤศจิกายน 2020) ซึ่งนโยบายกำแพงภาษีที่มีต่อประเทศคู่ค้าหลัก น่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ในช่วงระหว่างหาเสียง นั่นหมายถึงความผันผวนจากสงครามการค้าน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงปี 2020 นอกจากนี้ ทั้งจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ยังอาจใช้มาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากมาตรการทางภาษีเพื่อทำการตอบโต้ระหว่างกัน เช่น มาตรการค่าเงิน หรือการใช้กฎระเบียบเพื่อสร้างอุปสรรคต่อการค้าขาย เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของโลกในภาพรวมเช่นเดียวกัน ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ ก็ยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการบริหารของรัฐบาลที่การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ประกอบกับการที่จำนวนที่นั่งในสภาของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมาก ก็จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย
ทั้งนี้ภาครัฐยังมีความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ในปี 2020 โดยจากตัวเลขล่าสุดของการจัดทำงบประมาณปี 2020 ที่มีการนำเสนอ ครม. เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีรายจ่ายรวมที่ 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่าเพดานหนี้ในการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของภาครัฐมีมากถึงราว 7.1 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าภาครัฐยังมีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมากพอสมควรราว 2.4 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.5% ของ GDP) โดยมาตรการที่อาจมีการจัดทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมวดสำคัญ ตามตารางที่ 4 ทั้งนี้หากภาครัฐมีการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 2020 ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าที่คาด