สนามบินซานฟรานฯแบนขวดน้ำพลาสติก
เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯประกาศห้ามขายน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก เพื่อให้สอดคล้องกับความพยายามลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
โดยนักเดินทางจะไม่สามารถซื้อน้ำดื่มในขวดพลาสติกที่มีปริมาณน้อยกว่า 1 ลิตรจากร้านค้าในสนามบิน ตู้กดซื้อเครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือในร้านอาหาร และมีการสนับสนุนให้นักเดินทางนำขวดส่วนตัวมา หรือซื้อแก้ว หรือภาชนะอลูมิเนียมที่ร้านในสนามบินแทน
“ ที่สนามบินซานฟรานฯ มีการซื้อน้ำดื่มถึง 9,000 ขวดโดยเฉลี่ยต่อวัน และเราต้องการทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อลดผลกระทบ ” สนามบินทวีตเมื่อวันที่ 20 ส.ค. โดยหวังว่าจะกลายเป็นสนามบินปลอดขยะแห่งแรกภายในปี 2564
“ เราพิจารณาทบทวนนโยบายและโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายภายใน 2-3 ปีหน้า ” Doug Yakel โฆษกท่าอากาศยานซานฟรานซิสโกกล่าวกับมูลนิธิธอมป์สันรอยเตอร์ “ เราหวังว่านี่จะเป็นการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง”
เนื่องจากผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและผลกระทบที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ภาคเอกชนและภาครัฐจึงเริ่มมีโครงการลดขยะพลาสติกมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ขยะพลาสติกหลายล้านตันลงเอยด้วยการกลบฝังในดินและทิ้งลงทะเลในแต่ละปี ซึ่งต้องใช้เวลานับพันปีในการย่อยสลาย
นครซานฟรานซิสโก ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งแคลิฟอร์เนียกลาง เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเพื่อลดขยะพลาสติกในสหรัฐฯ เช่น การยุติการขายขวดพลาสติกในเมือง หรือพื้นที่เช่าและห้ามซื้อขวดน้ำพลาสติกด้วยเงินกองทุนของเมือง
ที่สนามบิน ซึ่งสร้างขยะประมาณ 12.6 ล้านก.ก.ในแต่ละปี ได้รับการยกเว้นจากการแบน โดยเมื่อต้นปีนี้ มีระเบียบกำหนดให้ภาชนะที่บรรจุอาหารสั่งกลับบ้านต้องย่อยสลายได้ และหลายเขตเทศบาลห้ามใช้หลอดพลาสติก
มีการอนุญาตให้ผู้ขายยังขายขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ค้างอยู่ในสต็อกได้ และมีการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอื่นจากกระป๋องหรือขวดแก้ว
Yakel ระบุว่า ความหวังคือตลาดบรรจุภัณฑ์น้ำที่เติบโตอย่างยั่งยืน และหนุนให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้และโซดา ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในคำสั่งแบน ต้องเริ่มมีนวัตกรรม