“ART-DEE” โมเดลไม้อัดชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย
จากความชื่นชอบจนถึงขั้นหลงใหลในการประกอบโมเดลในรูปแบบที่เป็นกระดาษ หรือที่เรียกว่าเปเปอร์โมเดลมาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก โดยจะใช้วิธีการโหลดแบบจากต่างประเทศมาประกอบ ทำให้มองเห็นช่องทางในการธุรกิจในการสร้างเปเปอร์โมเดลออกมาจำหน่าย เพราะยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำมาก่อน
-จากกระดาษสู่ไม้
ชลาธิป ทรัพย์มณีเจ้าของบริษัท ไทยเปเปอร์โมเดล จำกัด บอกว่า จากจุดเริ่มต้นของไอเดียดังกล่าวได้ก่อกำเนิดให้เป็นโมเดลบ้านทรงไทยในรูปแบบกระดาษออกมา และได้รับรางวัลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยได้รับการส่งเสริมให้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ไทยเปเปอร์โมเดล” ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือเมื่อลูกค้าซื้อไปแล้วไม่สามารถประกอบได้สวยเหมือนโมเดล เพราะด้วยความที่เป็นกระดาษทำให้การประกอบต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างละเอียด และต้องมีการพับตามรูปแบบของโมเดล ทำให้ค่อนข้างจะยุ่งยากสำหรับลูกค้าที่ซื้อไปประกอบเอง
ด้วยปัญหาดังกล่าวที่พบได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการทำธุรกิจ โดยเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากโมเดลกระดาษเป็นโมเดลไม้ เพื่อให้ลูกค้าสามรถซื้อไปประกอบได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีความคงทน และมีคุณค่ามากกว่า ซึ่งโมเดลชุดแรกที่ทำออกมาคือ แบบบ้านเรือนไทย 4 ภาค โดยทำภายใต้แบรนด์ “Art-Dee”
“การหาวัสดุอื่นมาแทนกระดาษอยู่ภายใต้มุมมอง 4 ข้อ ได้แก่ 1.งานต้องมีนวัตกรรมในแง่ของงานหัตถศิลป์ แต่ต้องผลิตออกมาได้เป็นจำนวนมากผ่านคอมพิวเตอร์ และงานเลเซอร์ได้, 2.ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายมาลงตัวที่ไม้อัด, 3.ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสริมไอคิว และอีคิว ให้เด็กหรือผู้เล่นได้เรียนรู้ และได้ฝึกสมอง และ4. ต้องอยู่ภายใต้สโลแกนของแบรนด์ คือ ความทรงจำจากอดีตสู่ปัจจุบัน”
-ชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย
สำหรับจุดเด่นของโมเดลภายใต้แบรนด์ “Art-Dee” นั้น ด้วยความที่ตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบ และสนใจในประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้น งานที่ออกมาจึงมีความเป็นไทยที่โดดเด่น โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจเอกลักษณ์ความเป็นไทยมากขึ้น รวมถึงยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว จากการที่ต่างคนต่างก็มาช่วยประกอบ และผู้ใหญ่ก็จะมีเรื่องเล่าของโมเดลที่ประกอบให้เด็กได้ฟัง ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสคุยกัน
นอกจากนี้ การที่ทำกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และจดจำได้มากกว่าตอนเรียน เพราะสามารถซึมซับเกร็ดความรู้ได้ง่ายกว่า อีกทั้งการที่เด็กได้ประกอบโมเดลยังเป็นการช่วยฝึกฝนความใจเย็นให้กับเด็กได้ด้วย
ชลาธิป บอกต่อไปอีกว่า ในช่วงที่ทำผลิตภัณฑ์ออกมาในครั้งแรก กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในลำดับแรกที่วางเอาไว้คือกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดินทางมายังประเทศไทย โดยสโลแกนของผลิตภัณฑ์ก็คือ “ความทรงจำจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ก็จะกลับไปเพียงแค่ภาพถ่าย หรือหากจะทำเป็นโมเดลสำเร็จรูปเลยก็จะนำกลับไปลำบาก เราเลยทำให้ออกมาเป็นรูปทรงแบน สามารถพกพากลับประเทศได้อย่างสะดวกสบายเพื่อนำไปประกอบ โดยที่วิธีการประกอบจะถูกอธิบายเป็นรูปภาพ หรือคำง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าที่คาดไม่ถึงก็คือ กลุ่มเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมาหาซื้อโมเดลเพื่อนำกลับไปทำรายงานค่อนข้างมาก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของผู้ที่เกษียณอายุจากการทำงาน เพราะได้รำลึกนึกย้อนไปถึงความหลังแห่งความทรงจำในอดีตที่เคยผ่านมา ที่สำคัญยังได้ประกอบโมเดลด้วยตนเอง
ด้านช่องทางการทำตลาดจะใช้วิธีการจำหน่ายผ่านเฟสบุ๊ก (Facebook) เป็นหลัก โดยล่าสุดได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการจีเนียสอะเคเดมี่ (Genius Academy) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งภายในงานจะมีกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจโมเดิร์นเทรดมาเลือกดูสินค้า ทำให้ได้รับความสนใจจากคิงพาวเวอร์ (King Power) และกลุ่มสยามภิวัฒน์ โดยปัจจุบันก็อยู่ในขั้นตอนของการทำสัญญาเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย
ชลาธิป บอกอีกว่า ขณะนี้โมเดลไม้ภายใต้แบรนด์ “Art-Dee” ประกอบด้วย ชุดวิถีทาง วิถีไทย เช่น รถม้าลำปาง เกวียนไทยโบราณภาคกลาง และเหนือ และรถม้าทรงยุโรปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น, ชุดพระราชวังพระที่นั่ง เช่น พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระราชวังบ้านปืน เป็นต้น, ชุดบ้านเรือนไทย 4 ภาค และชุดซุ้มสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ ยังเตรียมออกชุดสถานีรถไฟไทย โดยใช้สัดส่วน 1:87 หรือที่เรียกว่า “โฮ สเกล” (Ho.Scale) เพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบรถไฟจำลอง ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
จากการเพิ่มช่องทางในการทำตลาดเข้าสู่โมเดิร์นเทรด และการเพิ่มชุดโมเดลในการจำหน่ายเชื่อว่าจะทำให้มีรายได้อยู่ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 1.2 ล้านบาทในปี 61 และจะเพิ่มเป็น 200,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 2.4 ล้านบาทในปี 62
-ทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย
ชลาธิป กล่าวต่อไปอีกว่า กุญแจที่ไขไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจก็คือ ต้องการทำสิ่งที่ดี และง่ายแต่มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ โดยพยายามทำสิ่งที่ยากให้ผู้อื่นสามารถทำได้โดยง่ายๆ และสัมผัสได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีที่มาจากไม้ที่นำมาทำเป็นโมเดลคือเศษไม้อัดที่ได้จากโรงาน หรือที่เรียกว่าไม้อัดแฟนซี โดยตนเองจะไปเลือกสีของไม้ด้วยตนเองตามแบบที่ต้องการของโมเดลในแต่ละรูปแบบ ซึ่งจะมีขนาดประมาณ 40×80 เซนติเมตร
ส่วนเศษไม้ที่เหลือจากการทำโมเดลขนาดประมาณ 10-15 เซนติเมตรก็จะนำไปทำพวงกุญแจ โซฟาขนาดเล็ก และม้านั่งสนาม เป็นต้น ภายใต้แบรนด์ “Kid-Dai” เรียกว่าเป็นการใช้ไม้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด.