สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ก.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน(200 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครพนม (67 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (82 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (47 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (42 มม.) ภาคใต้ : จ.ระนอง (131 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยจะมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดบึงกาฬ นครพนม จันทบุรี ตราด และระนอง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 20ฃ2 – 24 ก.ค. 68 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
พายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 21 – 22 ก.ค. 68
2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 59% ของความจุเก็บกัก (47,259 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 40% (23,144 ล้าน ลบ.ม.)
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ 20 ก.ค. 68 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 7/2568 โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
1. ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยาดำเนินการปรับการคาดการณ์ปริมาณฝน ในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย.68 เพื่อจะได้ใช้ข้อมูลในช่วงดังกล่าวสำหรับบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาปริมาณฝนตกต่ำกว่าปริมาณฝนคาดการณ์ และโดยเฉพาะปริมาณฝนตกในเดือน ส.ค. 68 พบว่ามีค่าสูงกว่าค่าปกติมาก
2. ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) วิเคราะห์และให้ข้อมูลสภาพอากาศในระดับพื้นที่เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
3. ขอให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พิจารณาวางแผนการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ รวมถึงลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา” รวมไปถึงในช่วงที่มีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูฝนนี้
4. ขอให้กรมชลประทานพิจารณาเร่งพร่องน้ำกว๊านพะเยาให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำ และเพื่อรองรับปริมาณฝนตกหนักในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 68
5. ขอให้กรมควบคุมมลพิษพิจารณาการนำเสนอผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ตามมาตรฐานน้ำดื่มต่อสุขภาพและความเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO) เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อคุณภาพน้ำ ที่นำมาใช้อุปโภคบริโภค เพิ่มเติมจากมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน
ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสรุปรายงานต่อคณะกรรมการระดับนโยบาย และสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้จังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือสำหรับใช้กำหนดมาตรการเชิงพื้นที่ต่อไป หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงหรือปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากพายุโซนร้อนกำลังแรง “ วิภา ” จะมีการแจ้งเตือนและปรับแผนบริหารจัดการน้ำทันทีเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ก.ค. 68