กัมพูชาหล่นอันดับประเทศน่าทำธุรกิจ
กัมพูชาร่วงลงจากอันดับประเทศที่สะดวกในการทำธุรกิจที่รายงานโดยธนาคารโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 131 จาก 190 ประเทศในปีนี้
ลดลงมา 4 อันดับในดัชนีที่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่า กัมพูชายังคงต้องพยายามอีกมากกว่าจะปฏิรูปให้รุดหน้าเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
โดยนิวซีแลนด์นำอยู่ในอันดับ 1 และสิงคโปร์หล่นลงมาอยู่ในอันดับ 2 หลังจากครองแชมป์มาหลายปีติดต่อกันในดัชนีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 23 และไทยอยู่ที่ 46 ขณะที่ลาวอยู่ต่ำกว่ากัมพูชาเล็กน้อยคืออยู่ที่ 139 และเมียนมารั้งตำแหน่งต่ำสุดในภูมิภาคนี้คืออยู่ในอันดับที่ 170
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า กระบวนการเริ่มต้นธุรกิจยังคงเป็นเรื่องยากในกัมพูชา โดยกัมพูชาได้คะแนนน้อยที่สุดในหัวข้อนี้ อยู่ในอันดับที่ 180 ซึ่งนับว่าแย่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยในรายงานชี้ว่า เวลาเฉลี่ยที่กระบวนการเริ่มต้นประกอบธุรกิจจะเสร็จสมบูรณ์อยู่ที่ 99 วัน
กัมพูชาทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น จากการจดทะเบียนที่ใช้เวลาเพิ่มขึ้นและกำหนดให้บริษัทต้องแสดงหลักฐานการฝากเงินทุนหลังจากจดทะเบียนบริษัท อ้างอิงจากรายงานของธนาคารโลก
ทั้งนี้ คะแนนต่ำสุดของกัมพูชาจากดัชนีในปีนี้อยู่ในหัวข้อ การติดต่อขอใบอนุญาตในการก่อสร้าง โดยอยู่ในอันดับที่ 183 คะแนนลดลงมาสองจุดเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ในรายงานแสดงให้เห็นว่าจากเริ่มต้นจนเสร็จสมบูรณ์จะใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึง 652 วันและมีกระบวนการทางกฎหมายถึง 20 ขั้นตอน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 134 วัน
ในหัวข้อที่กัมพูชาเปล่งประกายกว่าประเทศอื่นคือ การเข้าถึงสินเชื่อ โดยกัมพูชาได้คะแนนสูงอยู่อันดับ 7 ของโลกและสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน คะแนนที่สูงของกัมพูชามาจากการทำงานที่เป็นอิสระของหน่วยงานเครดิตบูโร
ในกัมพูชา เครดิตบูโรเริ่มให้คะแนนเครดิตกับธนาคารและสถาบันทางการเงิน โดยพัฒนาข้อมูลการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้นมาก ซึ่งเอื้อต่อธุรกิจขนาดเล็กในกัมพูชาที่มีประวัติการเงินที่ดีที่จะได้รับสินเชื่อ อ้างอิงจากรายงาน
“ การเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้นมีผลทำให้ธุรกิจมีการขยายตัวและเพิ่มรายได้ให้บริษัทเมื่อเริ่มทำธุรกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ” นายอิน แชนนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร Acleda ให้ความเห็น
นักวิจัยจากธนาคารโลกเน้นว่า อันดับที่ได้มีความสัมพันธ์กับทุกประเทศในรายงาน และถึงแม้อันดับที่ได้จะไม่สูงนัก แต่ก็เห็นการพัฒนามากขึ้น อย่างเช่นกัมพูชา
โดยในกรณีของกัมพูชา ทางธนาคารโลกชี้ว่า มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากระยะห่างของผลการพัฒนาประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ.