เม็กซิโกไม่จ่ายค่าสร้างกำแพงให้ทรัมป์
เม็กซิโกจะไม่ยอมจ่ายค่าสร้างกำแพงกั้นพรมแดนที่ติดกับสหรัฐอเมริกาตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวยืนยันกับชาวอเมริกัน
นายเอนริเก เปนา นิเอโต ประธานาธิบดีเม็กซิโกกล่าวว่า เขารู้สึกเศร้าใจกับแผนที่จะสร้างกำแพงกั้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเสริมว่า “ เม็กซิโกไม่เชื่อเรื่องกำแพง ” แต่เขาไม่ได้เอ่ยถึงการยกเลิกหรือเลื่อนกำหนดการเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตันในวันที่ 31 ม.ค. นี้เพื่อพบกับผู้นำสหรัฐฯ
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีเพื่อก่อสร้างกำแพงที่กั้นไม่ให้มีการข้ามมาได้ และยืนยันว่าเม็กซิโกจะต้องจ่ายเงินค่าสร้างกำแพงร่วมกับสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีเปนา นิเอโตกล่าวในรายการโทรทัศน์เพื่อบอกกับประชาชนว่า “ ผมขอบอกอีกครั้งว่า เม็กซิโกจะไม่จ่ายค่าสร้างกำแพงใดๆ ทั้งสิ้น ผมเศร้าใจและขอประณามการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาที่จะสร้างกำแพงต่อไป ซึ่งจะเป็นเวลาหลายปี และแบ่งแยกเราออกจากกัน แทนที่จะรวมกัน ”
โดยผู้นำเม็กซิโกกล่าวว่า ประเทศของเขาขอหยิบยื่นมิตรภาพให้กับชาวอเมริกันและมีเจตนาที่จะสานสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีเปนา นิเอโตพบกับประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนก.ย. ปี 2559 และถูกกระแสวิจารณ์ในประเทศ โดยขณะนี้คะแนนความนิยมจากประชาชนในตัวเขาลดต่ำลงมาก
ประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศนเอบีซีว่า เม็กซิโกจะจ่ายค่าสร้างกำแพงให้กับสหรัฐฯ อย่างแน่นอน 100% แต่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะต้องอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจะสูงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ การก่อสร้างกำแพงกั้นพรมแดนกับประเทศเม็กซิโกยาว 3,200 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาสำคัญในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของเขา
โดยเขาได้กล่าวถึงวิกฤตตามแนวชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ ที่เขาได้ลงนามในคำสั่งพิเศษในระหว่างการฉลองที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ในคำสั่งพิเศษนี้ยังได้ร้องขอให้มีการจ้างเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มอีก 10,000 คนเพิ่อช่วยในการลาดตระเวนตามแนวพรมแดนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
“ ประเทศที่ไม่มีพรมแดนก็ไม่ใช่ประเทศ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ที่สหรัฐฯ จะกลับมาควบคุมพรมแดนของเรา ” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว
คาดการณ์กันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศกฎระเบียบที่เข้มงวดกับการตรวจคนเข้าเมืองจาก 7 ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นมุสลิมในตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งจะกระทบกับนโยบายผู้ลี้ภัย โดยเชื่อว่าประเทศเหล่านี้คือ ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ลิเบีย ซูดาน โซมาเลียและเยเมน.