ปลุกกระแสคลั่งชาติ อาวุธใหม่ “บิ๊กป้อม” รบ “เพื่อไทย”
รายงานพิเศษ : ปลุกกระแสคลั่งชาติ อาวุธใหม่ บิ๊กป้อม สู้ เพื่อไทย
“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังถูกเขี่ยพ้นพรรคร่วมรัฐบาล ก็เดินเกมโต้กลับพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดขุด MOU 2544 ที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ลงนามความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชา ออกมาปลุกกระแสความรักชาติ โจมตีรัฐบาลเพื่อพรรคไทย ว่ากำลังจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ที่สำคัญประเทศไทยกำลังจะเสียดินแดน
พล.อ.ประวิตร ได้สั่งให้ศูนย์นโยบายและวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ ติดตามความคืบหน้าของ MOU 2544 ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามไว้ พร้อมปลุกใจให้พรรคพลังประชารัฐ ปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของชาติอย่างสูงสุดในฐานะฝ่ายค้านอย่างเป็นรูปธรรม
โดยพรรคพลังประชารัฐ มองว่า ในขณะนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า MOU 2544 ที่รัฐบาลพยายามจะดำเนินการจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวง จากกรณีศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่มีลักษณะองค์ประกอบคล้ายกันนี้และนำไปสู่การเสียดินแดนในที่สุด
ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ จึงประกาศว่าจะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องทรัพยากรและอาณาเขตแห่งราชอาณาจักรไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างถึงที่สุด จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้มีการยกเลิก MOU 2544 หรือขัดขวางการเจรจาใดๆ ที่อาจเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การที่กัมพูชาขีดเส้นเขตแดนทางทะเลทับน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด ขีดข้ามเกาะกูด ทะลุไปกลางอ่าวไทย ซึ่งขัดอนุสัญญาเจนีวา 1958 เส้นดังกล่าวจึงขัดกับแผนที่แนบ พระบรมราชโองการที่ประกาศไว้ โดย MOU 2544 ซึ่งรับรองการขีดเส้นแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ เพราะท้ายพระบรมราชโองการระบุชัดเจนว่า อาณาเขตต่อเนื่องกับประเทศใกล้เคียง ก็ให้ยึดถือบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา เจนีวา 1958
“เมื่อเอกสารราชการมีการขัดกัน จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่ต่างประเทศจะนำไปอ้างและอาจจะทำให้เราสูญเสียเหมือนกรณีเขาพระวิหาร นี่คือสาเหตุที่เราสมควรต้องยกเลิก MOU 2544 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องอันตราย“ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
กระแสว่าความด้วย MOU 2544 ถูกพูดถึงในวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว นั่นทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาประชุมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นหลักคือความเข้าใจใน MOU 2544
โดยที่ประชุมดังกล่าว เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ของฝ่ายไทย เพื่อเจรจากรณีปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA: Overlapping Claim Area) ระหว่างไทยกับกัมพูชา คาดว่าจะมีการเสนอชื่อคณะกรรมการภายใน 2 สัปดาห์นี้
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงว่า “MOU ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เพราะเส้นที่ตีหากไปดูทางกัมพูชาก็ได้ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกัน ซึ่งในการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิน แต่มีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ นี้คือความหมายใน MOU 44 ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องตกลงพูดคุยกันอย่างไร“
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการพรรค ออกมาบอกว่า หัวหน้าพรรคอย่าง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน ยังมีความกังวลกับ MOU 2544 จึงขอเวลาศึกษาก่อน เพราะเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงพลังงานโดยตรง
โดยเรื่องนี้แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ไม่สบายใจ เพราะต้องอย่าลืมว่า ที่มาของพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนหนึ่งมาจากพรรคพลังประชารัฐ และฐานแฟนคลับก็เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงไม่แปลกที่แม้พรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ยังไม่คล้อยตามพรรคเพื่อไทย ในเรื่องดังกล่าว
ด้าน นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า MOU44 เป็นตัวกำหนดให้กัมพูชาต้องเจรจาทั้งเขตแดนทางทะเล การปักปันเขตแดน รวมทั้งการพัฒนาร่วมไปพร้อมๆ กัน แยกจากกันไม่ได้
ดังนั้น รัฐบาลนี้จะดำเนินการตามกรอบ MOU44 คือ ต้องเจรจาการแบ่งเขตทางทะเลกับการพัฒนาร่วมไปพร้อมกัน แยกจากกันไม่ได้ ไม่สามารถจะไปตกลงกันว่า น้ำมันและก๊าซนำมาใช้ก่อน คนละ 50:50 แล้วเรื่องเขตแดนไว้ทีหลังไม่ได้ ต้องทำพร้อมกันไป
ส่วนแกนนำมวลชนอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ก็ออกมาเตือนรัฐบาลว่า “ไม่มีใครปลุกม็อบล้มคุณหรอก คุณนะปลุกม็อบขึ้นมาเอง แต่ที่สำคัญคือ วันนี้ มันจะเร่งเจรจาหาอะไรกัน ขณะที่คุณใช้เวลา 2 สัปดาห์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา แล้วไม่คิดจะเจรจาสัมปทานกับเชฟรอนบ้างเลยเหรอ อะไรไปอุดปากอยู่”
“เรื่องล้มรัฐบาลมีเรื่องอื่นอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับเกาะกูดและการเจรจาหาประโยชน์แหล่งพลังงานกับกัมพูชา เพราะเรื่องนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่อแววเป็นผลประโยชน์เชิงนโยบาย และสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนในอนาคต” นายจตุพร กล่าว
สำหรับรัฐบาลแพทองธาร มีความหมายมั่นจะเจรจากับกัมพูชา เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ข้อพิพาท 2 ประเทศ ซึ่งว่ากันว่ามีก๊าซธรรมชาติมากถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งน้ำมันขนาด 500 ล้านบาร์เรล มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท หากสามารถเจรจาสำเร็จ ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล
อย่างไรก็ตาม กว่าจะไปถึงจุดนั้น รัฐบาลต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจจนเป็นที่ยอมรับก่อนว่า การเจรจาดังกล่าว ไทยจะไม่เสียประโยชน์ จะไม่ดินแดน และทรัพยากรธรรมชาติที่ได้มานั้น จะไม่เอื้อใครกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง