สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ส.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.อุตรดิตถ์ (180 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.บึงกาฬ (119 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (24 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (129 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (47 มม.) ภาคใต้ : จ.นราธิวาส (68 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก
คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 3–6 ส.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง จะทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (43,953 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 34% (19,796 ล้าน ลบ.ม.)
3. การแจ้งเตือนเฝ้าระวัง : แจ้งเตือนเฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 2-8 ส.ค. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
4. การบริหารจัดการน้ำ :
วานนี้ (31 ก.ค. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลการประเมินพบว่า การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วง 10 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1–10 ส.ค. 67 ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะเริ่มลดลง สทนช. จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง เร่งพร่องน้ำออกจากอ่างฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนักในเดือน ก.ย. 67 ซึ่งการระบายน้ำต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมกำชับให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลศาสตร์ทุกแห่งตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ สทนช. และกรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 1 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก (อ.แม่ระมาด) จ.ขอนแก่น (อ.ชุมแพ) จ.ชัยภูมิ (อ.ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์) จ.ร้อยเอ็ด (อ.ปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย และสุวรรณภูมิ) จ.กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ) จ.ยโสธร (อ.เมืองฯ) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา) จ.นครนายก (อ.องครักษ์) จ.ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี ประจันตคาม และนาดี) จ.ฉะเชิงเทรา (อ.บางน้ำเปรี้ยว) จ.ระยอง (อ.เมืองฯ และนิคมพัฒนา) จ.จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม และแก่งหางแมว) จ.ตราด (อ.เมืองฯ เขาสมิง และบ่อไร่)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ก.ค. 67