สรรพสามิต เล็งเทียบภาษีน้ำมันเป็น Carbon Tax
เอกนิติ ลุย Carbon Tax เล็งเปลี่ยนการเก็บภาษีน้ำมันจากอัตราภาษี เป็น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เพื่อรองรับ CBAM มาตรการกีกกันทางการค้าตัวใหม่ของยุโรป
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า นับจากนี้ ไปกรมฯ จะพยายามผลักดันการจัดเก็บภาษีให้เข้าสู่ระบบสากลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรืออียู ในปีหน้า จะเริ่มใช้ CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ดังนั้น นโยบายของกระทรวงการคลังคือ ต้องการให้กรมสรรพสามิตเป็นหัวหอกนำด้านสีเขียว
“ตอนนี้ เรากำลังเปลี่ยนการจัดเก็บภาษี จากเดิมตามปริมาณ หรืออัตราภาษี มาเป็น Carbon Tax หรือ ภาษีคาร์บอน” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวและกล่าวว่า
การเก็บภาษีคาร์บอนของเมืองไทย จะเริ่มจากภาษีน้ำมัน ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งการเก็บภาษีคาร์บอนจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน เพราะอัตราภาษีที่เก็บอยู่ในปัจจุบันเมื่อถูกแปลงเป็น Carbon Tax แล้ว จะไม่มีผล กระทบต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.โลกร้อน ที่กำลังจะออกมาในปี2568 โดยจะเก็บภาษีจากต้นน้ำ ยกตัวอย่าง ภาษีรถยนต์ ในอดีต เราจัดเก็บตามกระบอกสูบ หรือขนาดของเครื่องยนต์ (ซีซี.)
แต่ขณะนี้ ได้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ ที่ปล่อยคาร์บอนเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร เสียอัตราภาษี 35% แต่หากต่ำกว่า 150 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 25% อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว
ในกรณีนี้ เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ในระยะแรกที่เริ่มจากน้ำมันก่อนนั้น เพราะกรมสามารถดำเนินการได้เลยทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ เพียงแปลงการจัดเก็บภาษีน้ำมันต่อลิตร เป็นภาษีต่อการปล่อยคาร์บอน ซึ่งปัจจุบัน การเก็บภาษีน้ำมันคิดสัดส่วนตามลิตร เช่น ดีเซล เก็บภาษี 6.44 บาทต่อลิตร โดยน้ำมัน 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0026 ตันคาร์บอนก็จะจัดเก็บภาษีในอัตรา 200 บาทต่อตันคาร์บอนหรือเฉลี่ย 1 ลิตร เก็บ 46 สตางค์ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน
นายเอกนิติ กล่าวว่า ภาษีคาร์บอนจะทำให้เราเติมน้ำมันแล้ว รู้เลยว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ โดยข้อกำหนด ของ CBAM หากส่งออกสินค้าไป เช่น โรงเหล็กไทยที่ซื้อน้ำมันดีเซลมาหล่อหลอมเหล็ก ก็จะมีภาษีคาร์ บอนอยู่ในน้ำมันดีเซล ซึ่งทางสหภาพยุโรปก็จะรู้ว่า เราผลิตคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้”
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมได้สนับสนุนมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวี ซึ่งช่วยทำให้คนเปลี่ยนมาใช้รถอีวีมากยิ่งขึ้น โดยปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดการใช้รถอีวีโต 685% ส่วนนี้ทำให้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บรถอีวีลดลง เพราะภาษีสรรพสามิตจากเดิมจัดเก็บ 8% ตอนนี้ลดเหลือ 2%
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้ช่วยลดคาร์บอนได้แล้วกว่า 240,000 ตันคาร์บอน และยังแลกเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้ามาตั้งโรงงานการในประเทศไทย เพื่อผลิตรถอีวีชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์อีวีเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวกว่า 22 บริษัท ช่วยให้มีเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยกว่า 80,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กรมยังได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่อยู่ที่อัตรา 8% เท่ากันทั้งหมด เช่น แบตเตอรี่รถยนต์โบราณ ไฟฉาย พาว์เวอร์แบงก์ เป็นต้น ฉะนั้น สิ่งที่กรมจะเดินหน้า คือ จะต้องทำให้เกิดความแตกต่าง และมีหากคำนึงถึงเรื่องรีไซเคิล กรมฯ ก็จะลดอัตราภาษีลง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุ : CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมสรรพสามิตลุยจับบุหรี่เถื่อน 8 เดือน สั่งปรับทะลุ 250 ล้านบาท