โชห่วย 1.2 ล้านราย ยิ้มรับดิจิทัลวอลเล็ต
• รัฐบาลมั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจดันจีดีพีพุ่ง
• เผย 6 เงื่อนไขคนไทยร่วมดิจิทัลวอลเล็ต
• เงินหมุนเข้าคนรากหญ้าประชาชนมั่นคั่ง
ช่วงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเด็น “ดิจิทัลวอลเล็ต” ร้อนแรงไม่แพ้สภาพอากาศ ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็น ที่สังคมตั้งคำถาม กับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น “ใครได้บ้าง” “ใช้ได้ที่ไหน” และ “จะได้เงินเมื่อไหร่”
หรือแม้แต่ประเด็นโครงการนี้ เอื้อกลุ่มทุนใหญ่หรือไม่!! ล้วนแต่มีคำตอบที่น่าสนใจ
ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น
สุดท้ายมติครม.เห็นชอบในหลักการทั้งหมด จากที่คณะกรรมการฯเสนอเป็นหลักการของโครงการ โดยเงื่อนไขผู้ที่ได้รับ 50 ล้านคนคือ
1.มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้าน
2.มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 840,000 บาท
3.มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
4.จะต้องมีการลงทะเบียนผ่าน Application บน Smartphone
5.ใช้จ่ายในเขตอำเภอตามทะเบียนบ้าน
และ 6.ใช้ในร้านค้าปลีกขนาดเล็ก โดยรายละเอียดกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้กำหนดว่าร้านค้าขนาดเล็กหมายถึงร้านใดบ้าง
โดยมีกติกาว่า ประชาชนมือ 1 มีกรอบเวลาการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทภายใน 6 เดือน
ขณะที่ ร้านค้าที่ประชาชน สามารถนำเงินดิจิทัล ไปใช้ได้นั้น เป็นร้านอะไรก็ได้ แม้กระทั่ง หาบเร่ แผงลอยก็ สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์เป็นร้านค้าได้ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 และจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้
สำหรับประเด็นที่สังคม ตั้งคำถามกับรัฐบาลไม่แพ้ประเด็นอื่นๆ “โครงการนี้ เอื้อกลุ่มทุนใหญ่หรือไม่” นายชัย ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจน และชวนฉุกคิดอย่างยิ่งว่า จากการได้ไปศึกษาข้อมูลว่าโครงการนี้ ถูกออกแบบมาทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลจากหลายภาคส่วน พบว่า ร้านสะดวกซื้อปัจจุบันมีอยู่เพียง 14,500 สาขา แถมกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นแฟรนไชส์ ผู้ประกอบการายย่อย
และเมื่อนำมาเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าย่อย จากตัวเลขในโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา กระทรวงการคลังรายงานว่า มีร้านที่ลงทะเบียน เข้าร่วมโครงการถึง 1.2 ล้านร้านค้า ซึ่งกระทรวงการ คลังคาดว่า ร้านค้าเหล่านี้ มีโอกาสสูงที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอเล็ตในครั้งนี้ เพราะฉะนั้น ประ ชาชนจะสามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้รอบแรกประมาณ 1.2 ล้านร้านค้านี้ด้วย
ดังนั้น เมื่อหากมองข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม ข้อกังวลว่า จะผูกขาดร้านสะดวกซื้อจะได้ประโยชน์ ก็ลองนึกภาพเปรียบเทียบจำนวนร้านล้านกว่ากับหมื่นกว่า เป็นตัวเลขที่ห่างกันหลายเท่าตัว
หากมองในแง่ของการใช้จ่าย ร้านค้าปลีกทั้งประเทศ ปีหนึ่งจะมียอดการใช้จ่าย 4.1 ล้านล้านบาท แต่ร้านสะดวกมีมูลค่าการซื้อขาย เพียง 38,000 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลใจ ไม่ว่าประชาชนจะไปซื้อในร้านของใครก็ตาม ร้านนั้น จะเป็นบริษัทเป็นแฟรนไชส์ หรือโมเดิร์นเทรดขนาดเล็ก ซื้อ 100 บาท อย่างน้อยคนที่ขายของ ต้องนำเงิน 60-70 บาท ไปซื้อสินค้าใหม่เนื่องจากเป็นห่วงโซ่
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นร้านใดก็ย่อมมีการนำเงินมาหมุนเช่นกัน เพื่อนำสินค้ามาขายใหม่ จะเก็บเข้ากระเป๋าทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งร้านเข้าร่วมโครงการมากเท่าไรก็จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ สะดวก มีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น
ถ้าวิเคราะห์ข้อมูลกันจริงๆ เงินที่หมุนเวียนไปในชุมชนต่างๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศปรับขึ้นอย่างน่าสนใจ คนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ก็น่าจะเป็นประชาชน ประเทศชาตินั่นเอง