สทนช. สั่งงดทำข้าวนาปรังรอบ 2
สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์งดเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 อย่างต่อเนื่อง ป้องกันส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค โดยจะเริ่มส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่ 1 พ.ค. นี้ เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้เร็ว ลดความเสี่ยงจากน้ำหลากในช่วงฤดูฝน เผยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานวันน้ำโลกในหัวข้อ “น้ำเพื่อสันติภาพ” 22 มี.ค. นี้
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นจากอิทธิพลของหลายปัจจัย ทั้งความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมา หย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนบริเวณตอนกลางของประเทศ และลมใต้ที่พัดความชื้นเข้ามา ส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงภาคตะวันออก โดยบริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุดในรอบสัปดาห์ จำนวน 228 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ และในช่วง 1 – 2 วันนี้ จะยังคงมีสถานการณ์ฝนตก โดยจะมีฝนมากในฝั่งตะวันตกของประเทศ
สำหรับภาพรวมของสถานการณ์น้ำในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีน้ำน้อย ได้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้ง พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับอ่างฯ น้ำน้อย เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม โดยมีการรณรงค์งดเพาะปลูกข้าวนาปรังและส่งเสริมการเพาะปลูกพืชน้ำน้อย เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่ามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผน ซึ่งทำให้มีการจัดสรรน้ำเกินแผนที่วางไว้ แต่ยังคงอยู่ในปริมาณที่ควบคุมและบริหารจัดการได้ โดยจะมีการเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาในเรื่องการปรับแผนการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย ทั้งนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการรณรงค์งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากเพื่อลดผลกระทบต่อแผนจัดสรรน้ำแล้ว ยังมีผลดีในการเว้นระยะสำหรับบำรุงรักษาดินเพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูถัดไป ซึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะมีการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ 1 พ.ค. นี้ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วยิ่งขึ้น ป้องกันความเสียหายจากปริมาณฝนมากจากสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนนี้ “ขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว โดยในระยะนี้สภาวะเอลนีโญกำลังปานกลางในประเทศไทยจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว
ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสภาวะลานีญาในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนประมาณเดือน มิ.ย. ซึ่ง สทนช. ได้นำข้อมูลจากการประเมินและคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ลานีญาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และเตรียมเสนอต่อ กนช. ในวันที่ 27 มี.ค. นี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนต่อไป โดยคาดว่าปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างฯ น้ำน้อยต่าง ๆ ให้มีสถานการณ์ดีขึ้น ในส่วนของการรองรับสถานการณ์ฤดูแล้ง ปัจจุบัน สทนช. ยังคงดำเนินงานเชิงรุก โดยมีการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่งที่ผ่านมีการลงพื้นที่ รวม 28 จังหวัด และในช่วงนี้มีแผนในการลงพื้นที่เพิ่มเติมอีก 6 จังหวัด เพื่อติดตามสำรวจสภาพปัญหาและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขในเชิงป้องกัน เช่น การสูบผันน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำดิบ การเป่าล้างบ่อบาดาลเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาล การเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นต้น รวมถึงมีการวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว โดยพิจารณาโครงการร่วมกับประชาชน เช่น การสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม ฯลฯ ประกอบกับการให้ความรู้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมเสนอแผนงาน/โครงการในปีถัด ๆ ไปด้วย” นายสุรสีห์ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า จากผลของการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อรับมือฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้ง เพียง 4 จังหวัด 8 อำเภอ ได้แก่ อ.พนมทวน อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.เกาะสีชัง อ.หนองใหญ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และ อ.ทับสะแก อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ สทนช. จะยังคงติดตามประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ สทนช. ในฐานะหน่วยงานรัฐบาลที่มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ยังได้เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในนามรัฐบาลไทยพร้อมกับนานาประเทศทั่วโลก เนื่องใน “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” ซึ่งองค์การสหประชาชาติ(UN) ได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 22 มี.ค. ของทุกปี เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ สำหรับวันน้ำโลก ประจำปี 2567 ได้กำหนดให้หัวข้อ “Leveraging Water for Peace” หรือ “น้ำเพื่อสันติภาพ” เป็นธีมหลักในการจัดงาน โดยภายในงานจะมีการเปิดตัวผู้แทนประชาสัมพันธ์ (Brand Ambassador) ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะร่วมกิจกรรมกับ สทนช. ต่อไปในอนาคต รวมทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการและการเสวนาที่สอดคล้องกับธีมงาน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมบรรยากาศงานได้ทางการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของ สทนช. ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป