ธ.ก.ส.ชี้แนวโน้มยุติดอกเบี้ยขาขึ้น
• “ฉัตรชัย” พร้อมลดอัตราดอกเบี้นตามภาวะตลาด
• ยัน ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยเกษตรกรต่ำที่สุดแล้ว
• โชว์แก้ไขหนี้นอกระบบ อุ้มเกษตรกรทะลุ 7 แสนคน
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ว่า น่าจะอยู่ในระดับคงที่กับปรับลดลง ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด โดยหากว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลง ธ.ก.ส.ก็พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้กู้ ส่วนผู้ฝากเงินนั้น ก็จะต้องรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนภาวะตลาด
“ถ้าพิจารณาตามหลักการแล้ว ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯและ กนง. อัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนี้ไม่มีการขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะลดลงเมื่อไหร่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง เราต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ทำให้เป็นประโยชน์กับเกษตรรายย่อย ส่วนผู้ฝากเงิน ก็ต้องยอมดอกเบี้ยที่ลดลง เพื่อให้การบริหารของธนาคารสอด คล้องกับทิศทางตลาด”
สำหรับสถานการณ์เงินฝากนั้น ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ไม่ได้ระดมเงินฝากเพิ่ม เพียงแต่รักษาฐานเงินเดิมไม่ให้ไหลออกไป โดยมีการออกสลากออมทรัพย์ใหม่ เพื่อทดแทนของสลากเก่าที่หมดอายุเท่านั้นเอง ซึ่งปัจจุบัน ปริมาณสลากฯ ที่ออกไปคิดเป็น 20% ของปริมาณเงินฝากทั้งหมด และใกล้เต็มเพดานแล้ว เอ็มดี ธ.ก.ส.กล่าวและกล่าวว่า
ธ.ก.ส.ยังพยายามรักษาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก เอาไว้ที่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเกษตรกรแพง แต่ทางในตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธ.ก.ส.น่าจะถูกที่สุด เมื่อเปรียบกับลูกค้าของธนาคารที่เป็นเกษตรกร มีรายได้ปีละครั้ง หรือตามฤดูกาล ไม่ใช่การประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีรายได้ทุกๆ วัน
สำหรับผลประกอบการของธนาคาร ณไตรมาสที่ 3 ของปีบัญชี ยอดเงินฝากสะสมอยู่ที่ 1.82 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์ 2.24 ล้านล้านบาทโดยจ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปี ไปแล้ว 614,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.66 ล้านล้านบาทเติบโตจากต้นปีบัญชีกว่า 27,600 ล้านบาท คิดเป็น 78.97% ของเป้าหมาย ส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 5.43%
สำหรับความคืบหน้าของโครงการพักชำระหนี้นั้น ณ วันที่ 18 ก.พ.2567 จากลูกค้ามีสิทธิ์ 2.1 ล้านราย แสดงความประสงค์แล้ว 1.8 ล้านราย คิดเป็น 66.62% แสดงความประสงค์เข้าพักชำระหนี้ 1.76 ล้านราย และจัดทำข้อตกลงต่อท้ายพักหนี้แล้ว รวม 1.14 ล้านราย หรือ 64.90% คงเหลือที่ต้องทำข้อตกลงอีก 6.17 แสนราย หรือ 35.10%
“โครงการพักหนี้ มีระยะเวลา 3 ปี ขณะนี้ ใกล้ครบปีที่แรก หรือปีที่ 1 ธนาคารจะดำเนินการรีวิวการชำระหนี้ของลูกหนี้ในโครงการ เพื่อประเมินว่า ลูกหนี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ หากสามารถชำระได้ เราก็จะเชิญชวนให้ชำระหนี้เพื่อตัดเงินต้น เพื่อที่จะได้เงินกู้ก้อนใหม่ไปประกอบอาชีพ แต่ถ้าประสงค์พักหนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ส่วนโครงการฟื้นฟูอาชีพให้แก่ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ โดยคาดหวังว่า เมื่อพ้นระยะเวลาโครงการแล้ว ลูกหนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 15% โดยรัฐฐาลสั่งให้ ธ.ก.ส.ในการฟื้นฟูอาชีพของลูกหนี้ในโครงการประมาณ 300,000 แสนรายต่อปี หรือ 900,000 รายใน 3 ปี ซึ่ง ธ.ก.ส.จะให้สนับสนุนโครงการนี้ ปีละ 1,000 ล้านบาท รวม 3 ปี ใช้เงิน 3,000 ล้านบาท โดยไม่ได้คาดหวังว่า เกษตรกรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพ แค่ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มราว 15% ก็ถือว่า ดีแล้ว
ขณะที่ การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบที่ดำเนินการโดยธนาคาร มีลูกค้าที่มีหนี้ นอกระบบมาเข้าสู่ระบบธ.ก.สแล้ว 676,516 รายวงเงิน 51,381 ล้านบาท และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรจ่ายผ่าน ธกส. วงเงินไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท ขณะนี้จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 36,063 รายวงเงิน 8,801 ล้านบาท รวมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบผ่านธกส. แล้ว 712,579 รายวงเงิน 60,182 ล้านบาท