“ภูลมโล” ซากุระเมืองไทยใหญ่สุดในประเทศ
ประเทศไทยดินแดนที่อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่ได้มีแค่เพียงเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักเท่านั้นที่มีแหล่งท่องเที่ยวอันงดงาม แต่ในจังหวัดที่ถูกนิยามว่าเป็นเมืองรองก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอลังการ น่าเดินทางเข้าไปสัมผัสไม่แพ้กัน
“ภูลมโล” คือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซากุระเมืองไทย” ด้วยต้นพญาเสือโคร่งที่ชาวบ้านช่วยกันปลูกกว่า 1 แสนต้นบนพื้นที่ 1,200 ไร่ ที่ตำบล กกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
จากภูหัวโล้นสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
โย ลำพึง เลขานุการ ชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เล่าถึงต้นกำเนิดของสถานที่ท่องเที่ยว “ภูลมโล” ว่า เดิมทีพื้นที่ภูลมโลมีสภาพที่เรียกว่าเป็นภูเขาหัวโล้น จากการทำไร่เลื่อนลอยของชาวบ้านเผ่าม้ง ดังนั้น ในปี 2551-52 ทางอุทยานจึงออกกุศโลบายให้ชาวบ้านปลูกผัก โดยให้มีการปลูกพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นไม้วงศ์เดียวกับซากุระของประเทศญี่ปุ่นควบคู่กันไปด้วย และในปี 2553-54 จึงเริ่มให้ดอกออกผลเป็นทุ่งพญาเสือโคร่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจากนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เราจึงเริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจังในปี 2553 เพื่อทำให้ “ภูลมโล” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ และมาชัดเจนขึ้นในปี 2554 โดยได้มีการจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบไม่สามารถพักค้างคืนได้ และจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลในการพาไปท่องเที่ยว แต่ในปี 55 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการประกาศให้”ภูลมโล” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยการเข้ามาให้องค์ความรู้ ทำให้การดำเนินการเป็นไปแบบมีกิจจะลักษณะมากขึ้น มีการแต่งตั้งประธาน รวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชน และดูว่าบ้านใดสามารถทำอะไรได้บ้างที่เกี่ยวข้องกับการจัดการให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
“บ้านใดสามารถทำบ้านพักแบบโฮมสเตย์ก็ดำเนินการไป ส่วนบ้านใดที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำอาหารก็ให้รับผิดชอบในส่วนดังกล่าวนี้ และมีการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนออกมาจำหน่ายสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ โดยที่ปัจจุบันชาวบ้านชุมชนกกสะทอนเป็นผู้บริหารจัดการ และดูแลกันเองในชุมชน”
อากาศเย็นทั้งปีและทุ่งพญาเสือโคร่ง
หากถามว่าจุดเด่นของ “ภูลมโล” อยู่ที่นั้น โย บอกว่า มาจากเรื่องของสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีตามชื่อซึ่งแปลว่าภูเขาที่มีลมพัดนาน หรือพัดผ่านตลอด เมื่อท่องเที่ยวเข้าไปก็จะมีลมพัดมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งมาจากการที่มีที่ตั้งอยู่บนความสูงของยอดภูที่ระดับ 1,680 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้อุณหภูมิสามารถลดลงได้ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีเรื่องของวิวทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นได้ 3 พื้นที่ ประกอบด้วย ภูทับเบิก ,ภูหินร่องกล้า และภูลมโล
นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่ชัดเจนที่ต้น “พญาเสือโคร่ง” กว่า 1 แสนต้นที่ชาวบ้านช่วยกันปลูก ซึ่งถือว่าเป็นทุ่งพญาเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และที่สำคัญพญาเสือโคร่งจะไม่ได้ออกดอกพร้อมกัน ทำให้กลายเป็นจุดขายได้อีกอย่างหนึ่งของ “ภูลมโล”
ส่วนบริบทของการท่องเที่ยวในปัจจุบันจะเป็นรูปแบบของการเดินทางภาคกลางวันไป-กลับ เพื่อเข้าไปชมต้นพญาเสือโคร่ง ยังไม่มีอาหาร หรือน้ำดื่มจำหน่ายบนภู โดยนักท่อเที่ยวที่ต้องการจะค้างคืนจะต้องลงมาพักที่บ้านพักโฮมสเตย์ข้างล่าง ซึ่งนักเที่ยวส่วนใหญ่ยังเป็นชาวไทย โดยที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีนักเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาไม่ว่าจะเป็น นักท่องเที่ยวจากประเทศลาว ,มาเลเซีย ,สิงคโปร์ และอังกฤษ
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) เป็นธนาคารที่เข้ามาช่วยดูแล และเติมเต็มในส่วนของสภาพคล่องทางการเงินให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อสำหรับนำมาใช้สำหรับทำที่พัก หรือในส่วนของผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น โดยถือว่าเป็นการเข้ามาได้ถูกที่ถูกเวลา และตรงจุดที่ชาวบ้านกำลังต้องการ ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนได้เป็นอย่างมาก”
เน้นออนไลน์และสร้างเครือข่าย
ขณะที่ในส่วนของกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์นั้น โย บอกว่า ได้มีการดำเนินการหลากหลายช่องทาง โดยช่องทางหลักก็จะเป็นการดำเนินการผ่านทางเพจของเฟสบุ๊ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่กดติดตามกว่า 1 แสนรายในช่วงที่พญาเสือโคร่งออกดอก โดยทุกสัปดาห์จะมีทีมงานเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อคอยอัพเดทความเคลื่อนไหวของข้อมูลบนเพจจากข้อมูลจริง
อย่างไรก็ดี “ภูลมโล” ยังมีภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวที่คอยให้การสนับสนุน จากการเป็นชุมชนต้นแบบของ อปท. ในหลากหลายเรื่อง ประกอบด้วย 1.คิด ,2.วางแผน ,3.ปฏิบัติ ,4.รับผิดชอบ เป็นต้น โดยเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่มุ่งเน้นเชิงปริมาณ แต่จะเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก อีกทั้งยังมีสื่อมวลชนที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลของ “ภูลมโล” ไปบอกต่อให้แพร่กระขายมากขึ้น