“เรือนไหม”คงคุณค่าเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ผ้าไหมถือว่าเป็นสุดยอดของผ้าไทยที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงสะท้อนได้ถึงวิถีความเป็นไทย และภูมิปัญญาชาวบ้านในการเลี้ยงดูตัวไหม และการสาวไหมที่กว่าจะได้ออกมาเป็นเส้นใย เพื่อใช้สำหรับการทอผ้าออกมาเป็นผืน และนำไปใช้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิต ทำให้วิถีแห่งความเป็นไทย และความเป็นอยู่ในรูปแบบเดิมๆเริ่มจางหายไป ไม่เว้นแม้กระทั่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ซึ่งหันมาใช้วิธีสั่งซื้อไหมจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะความสะดวกสบายที่มากกว่า
อาทร แสงโสมวงศ์ คือชายหนุ่มที่มีความผูกพันกับผ้าไหมมาตั้งแต่ยังเล็กจากธุรกิจของคุณพ่อ แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ชาวบ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีจำนวนลดลง หันมาพึ่งพาการซื้อไหมสำเร็จรูปแทน “หจก.เรือนไหม-ใบหม่อน” จึง Startup ขึ้นมา โดยมุ่งหวังรักษาวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่สวยงามของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอาไว้
-ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวิถีเดิม
อาทร ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเรือนไหม-ใบหม่อน เล่าย้อนกลับไปถึงที่มาของจุดกำเนิดธุรกิจ ว่า ตนคลุกคลีอยู่กับผ้าไหมมาตั้งแต่เด็กจากธุรกิจดั้งเดิมของคุณพ่อซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการรับซื้อเส้นไหมไทยจากชาวบ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อรวบรวมเส้นไหมมาส่งจำหน่ายให้กับโรงงานทอผ้าที่กรุงเทพมหานคร และที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเหตุการณ์กลับแปรเปลี่ยนกลายเป็นว่าเราต้องหาเส้นไหมมาจำหน่ายให้กับชาวบ้านแทน เพราะชาวบ้านลดการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยหันมาใช้วิธีการซื้อเส้นไหมมาทอแทนการเลี้ยงไหม เพื่อสาวไหมมาทอเป็นผ้า
จากเหตุการณ์ที่พลิกกลับข้างดังกล่าว ทำให้ตนต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ และมีความเห็นว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้อาชีพการปลูกหมอนเลี้ยงไหมอาจจะหายไปจากประเทศไทยก็เป็นได้ ดังนั้น จึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ชาวบ้านกลับมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามวิถีชีวิตแบบเดิม โดยมีเราเป็นผู้รับซื้อนำมาปรับปรุงคุณภาพ เพื่อผลิตเส้นไหมไทยใช้เองจากโรงงานของเรา
“ชาวบ้านเลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาและความพิถีพิถัน เพราะจะต้องสาวไหมด้วยมือ ผิดกับเส้นไหมนำเข้าที่ใช้เครื่องจักรในการสาวไหม ชาวบ้านจึงเลือกที่จะซื้อเส้นไหมเพื่อนำมาทอ เพราะมีความสะดวกสบายมากกว่า โดยยุคแรกเส้นไหมจะต้องนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ต่อมาภายในประเทศก็มีผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเส้นไหมถือว่าเป็นกึ่งกลาง เนื่องจากจะอยู่ในเชิงอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่ จะเป็นหัตถกรรมก็ไม่เชิงเสียทีเดียว”
-คงเอกลักษณ์ความเป็นไหมไทย
อาทร กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เราจึงเลือกใช้ไหมสายพันธุ์ไทยซึ่งจะมีสีเหลือง ส่วนของต่างประเทศจะเป็นสีขาว ซึ่งในตลาดโลกส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว โดยนำไหมที่ได้มาผลิตภายใต้แบรนด์ “เรือนไหม” ซึ่งมีแนวคิดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของใยไหมที่นำมาผลิต มีเรื่องราวที่น่าสนใจเพื่อเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
ขณะนี้เรากำลังดำเนินการเรื่องการเปิดศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร โดยจะเป็นศูนย์ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นไหมไทยตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำหรือผลิตภัณฑ์แบบสำเร็จรูป บนพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นก็จะทำเรื่องถวายรายงานเข้าสำนักพระราชวัง เพื่อพระราชทานขออนุญาตเปิดอย่างเป็นทางการ
ภายในศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะประกอบไปด้วยศูนย์แห่งการเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตไหม ไม่ว่าจะเป็นชาหม่อน, ซุปใบหม่อน, หม่อนเบอรี่, สบู่โปรตีนไหม, ดักแด้อบกรอบ, ครีมโปรตีนไหมบำรุงผิวหน้า และผ้าห่มใบไหม เป็นต้น อีกทั้งล่าสุดกำลังดำเนินการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารโปรตีนในลักษณะเดียวกับเวย์โปรตีน (WHEY) ที่กลุ่มผู้ออกกำลังกายนิยมรับประทานเพื่อเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกาย
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรเปิดให้บริการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว กลยุทธ์ในการทำตลาดในระยะต่อไปคือการรุกเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ทั้งในส่วนของเฟสบุ๊ก (Facebook) และไลน์ (Line) เพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ “เรือนไหม”
-บุกตลาดต่างประเทศ
นายอาทร กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้กำลังเตรียมผลิตผ้ายีนส์ที่ทำจากใยไหมสายพันธุ์ไทย จากเดิมที่ปกติผ้ายีนส์จะทำมาจากผ้าคัทตอน (cotton) โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการทดลองและวิจัยจนประสบความสำเร็จ ซึ่งล่าสุดได้มีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ส่วนช่องทางในการทำตลาดนั้น ได้มีการเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยีนส์ของประเทศญี่ปุ่น เช่น ยี่ห้อโมโมทาโร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมองถึงช่องทางในการทำธุรกิจร่วมกับสนามแข่งรถช้าง อินเตอร์เนชัลแนล เซอร์กิต ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นผู้ผลิตหมวกแก็ปจากผ้ายีนส์ใยไหม โดยปัจจุบันได้มีการร่างแบบไว้แล้ว เหลือเพียงแต่ขั้นตอนของการเจรจาธุรกิจ
“จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะทำให้ในปี 2561 หจก.เรือนไหม-ใบหม่อนจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตลาดตามกลยุทธ์ที่วางเอาไว้”
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์จาก หจก.เรือนไหม-ใบหม่อนนั้น อยู่ที่กระบวนการผลิตที่มาจากไหมแท้ 100% โดยนำเรื่องของนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้องค์ความรู้ในแบบพื้นฐานเดิมจนได้ผ้ายีนส์ใยไหม ขณะที่ขั้นตอนของการย้อมไหมก็ยังคงใช้ครามเหมือนการทำในอดีต จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศไทย และในตลาดสากล
“ธุรกิจของเราได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งมีธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยได้รับเงินสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจ”.