ถนนหมายเลข 10 เชื่อมศูนย์ราชการ-คลองประปา ใกล้เสร็จแล้ว
ความคืบหน้าการตัดถนนหมายเลข 10 เชื่อมต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กับถนนประชาชื่น คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานได้ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โดยความยาวของถนนเส้นนี้ประมาณ 1.3 กิโลเมตร รองรับรถสัญจรไปมาได้วันละประมาณ 1 แสนคัน สามารถช่วยระบายความแออัดของการจราจรให้กับผู้มาติดต่อหน่วยงานในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ และผู้มาติดต่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตลอดจนผู้สัญจรไปมาในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ถนนหมายเลข 10 เป็นถนน 4 ช่องจราจร เริ่มต้นจากถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา ผ่านพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 11 และพื้นที่ของการประปานครหลวง ข้ามคลองบางตลาด และจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับถนนภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ระยะทางรวมทั้งโครงการประมาณ 1.3 กิโลเมตร โดยได้ความอนุเคราะห์พื้นที่จากมณฑลทหารบกที่ 11 ให้ใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่เศษ และการประปานครหลวง ให้ใช้พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ นอกจากนั้นยังมีถนนเส้นใหม่ที่ตัดเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว คือถนนหมายเลข 8 หรือ ถนนเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ ซึ่งตัดเชื่อมต่อภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 กับถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ขนาด 4 ช่องจราจร 2 ทิศทางระยะทาง 825 เมตร
สำหรับโครงการตัดถนนทั้งหมายเลข 8 และหมายเลข 10 ซึ่งมีแผนการตัดถนนอยู่แล้วนั้น ได้เริ่มโครงการได้อย่างรวดเร็ว เกิดจากการมองเห็นปัญหาการจราจรภายในศูนย์ราชการฯ ที่แออัดต่อเนื่องไปถึงถนนแจ้งวัฒนะ นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส) หรือ DAD Asset Development ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 เริ่มหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดการจราจร ให้เกิดความสะดวกแก่ผู้สัญจร และถือเป็นจุดเริ่มของการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม 6 หน่วยงาน ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มณฑลทหารบกที่ 11 การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และ ธพส. เพื่อดำเนินการตัดถนนเส้นนี้ โดยมีสำนักการโยธา (สนย.) กทม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานก่อสร้าง นอกจากนั้น ธพส. ยังได้พัฒนาโครงการสมาร์ทฮับ จัดทำอาคารจอดรถ D (DEPOT) และประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นำรถ ขสมก. มาให้บริการรับประชาชนผู้มาติดต่อราชการออกจากศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วตอกย้ำความตั้งใจยกระดับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯให้เป็น “ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนต่ำ”