สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ม.ค. 67
1. สภาพอากาศวันนี้ : คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่ง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 25–28 ม.ค. 67 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 71% ของความจุเก็บกัก (58,570 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 59% (34,360 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำ เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก: คลองสียัด ภาคกลาง : กระเสียว (ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง)
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ดังนี้
ขุดลอกคลองพงกระถิน ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
ขุดลอกแหล่งน้ำหนองห้วยสีเสียด ต.ธาตุ อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ พร้อมดำเนินงานขุดแต่งพื้นที่ก่อสร้างอาคารระบายน้ำ และตั้งแบบก่อสร้างอาคารระบายน้ำ
แจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภค ปริมาณ 10,000 ลิตร และสนับสนุนภารกิจของคณะกรรมการลุ่มน้ำน่าน ในการบริหาร/จัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน
เฝ้าระวังความเค็มมีผลต่อการผลิตน้ำประปา ในแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังความเค็มมีผลต่อการเกษตร ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง
1. เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ในพื้นที่ อ.สวี อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ซึ่งจากการถอดบทเรียนปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในปี 66 มีสาเหตุมาจากขาดแคลนน้ำต้นทุนมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำจากน้ำทะเลรุกล้ำ และได้นำมาเป็นแนวทางดำเนินการป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้า จึงคาดว่าในปี 67 จะไม่เกิดปัญหาซ้ำในพื้นที่ จ.ชุมพร ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค
2. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 67 สทนช. ประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา 4 ประเด็นหลัก เพื่อรับมือฤดูแล้ง ดังนี้
2.1. พื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ สทนช. ประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค ช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยง 33 จังหวัด 167 อำเภอ 415 ตำบล ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และแก้ไขปัญหาในเชิงป้องกัน โดยที่ผ่านมา สทนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และกรมทรัพยากรน้ำอยู่ในระหว่างเร่งดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำดิบของแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งนี้ สทนช. ได้เสนอแผนแก้ไขปัญหา พร้อมติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานอย่างใกล้ชิดและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
2.2. ปรับแผนการจัดสรรน้ำ เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำ จึงจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง สทนช. กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อปรับแผนการจัดสรรน้ำ ให้มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงต้นเดือน พ.ย. 67 หรือต้นฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด
2.3. สถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำหลัก 4 สาย (แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง) ปัญหาลิ่มความเค็มรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ลำน้ำหลายแห่งมีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้น โดย สทนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเร็ว
4. สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์และประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันรักษาปริมาณน้ำไม่ให้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ ระดับน้ำปัจจุบันยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น