ปศุสัตว์ตามล่าข้าราชการนอกรีต
กรมปศุสัตว์ ร้องใจ ประสานดีเอสไอ ขอข้อมูลนำเข้า “หมูเถื่อน” พัวพันข้าราชการ หากเป็นจริงจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่กล่าวอ้าง พร้อมแจงกรณีอายัดหมูเถื่อนแล้ว ไม่ทำลายแต่นำกลับออกไปขาย
• ปศุสัตว์ผวาตื่นตามไล่ล่าแก๊งข้าราชการทุจริต
• ขอข้อมูลดีเอสไอตรวจสอบข้อมูลก่อนสอบวินัย
• แจงข้อเท็จจริงไม่อายัด ตับหมู 73,540 กิโลกรัม
กรมปศุสัตว์ แจงข้อเท็จจริง กรณีมีการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ประพฤติทุจริต อายัดตับหมูที่ตรวจพบเชื้อซาลโมเนลลาไว้ แล้วทำลายส่วนน้อย แต่ปล่อยให้นำสินค้าส่วนใหญ่ไปขายต่อ รวมถึงการลักลอบนำตีนไก่ของกลางไปจำหน่าย ตลอดจนกรณีบริษัทลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” จ่ายเงินสินบนให้ “หมออ๊อด”
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ได้ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรณีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ 3 คน ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เหตุจากตรวจพบเชื้อซาลโมเนลลาในตับหมู 75 ตันในห้องเย็นมหาชัย แต่ทำลายเพียง 1.5 ตัน แล้วปล่อยอายัดให้นำไปขายต่อได้นั้น
ในส่วนของข้อเท็จจริง กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ชุดพญาไท และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบที่ห้องเย็นแอลอาร์ห้องเย็น พบตับสุกรนำเข้าจำนวนรวม 75,070 กิโลกรัม
โดยสินค้าแบ่งเป็น 2 ชุด และสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจได้แก่ ชุดที่ 1 สุ่มเก็บตัวอย่างตับสุกร จากสินค้าที่มีสติ๊กเกอร์ DE ซึ่งมีปริมาณ 1,530 กิโลกรัม และชุดที่ 2 สุ่มเก็บตัวอย่างตับสุกรจากสินค้าที่ไม่มีสติ๊กเกอร์ DE ซึ่งมีปริมาณ 73,540 กิโลกรัม ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และต่อมาได้รับรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้
1.ตัวอย่างตับหมูที่สุ่มเก็บจากสินค้าที่มีสติ๊กเกอร์ DE ตรวจพบเชื้อซาลโมเนลล่า ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการบริโภค เจ้าหน้าที่จึงยึดอายัดและทำลายเรียบร้อยแล้ว 1,530 กิโลกรัม
2.ตัวอย่างตับหมูที่สุ่มเก็บจากสินค้าที่ไม่มีสติ๊กเกอร์ DE ตรวจไม่พบเชื้อซาลโมเนลล่าและเชื้อโรคอื่นๆ เจ้าหน้าที่จึงถอนอายัดคืนสินค้า 73,540 กิโลกรัม เพราะไม่มีเหตุในการยึดไปทำลาย การดำเนินการถอนอายัดนั้น ผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารหลักฐานการอนุญาตนำเข้ามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ เจ้าหน้าที่ชุดพญาไท และตำรวจปคบ. จึงไม่ได้ดำเนินคดี
ส่วนกรณีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรีคนปัจจุบันและพวก ร่วมกันลักลอบนำของกลางตีนไก่ 2 ตู้ไปขายโดยทุจริต อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และความผิดกฎหมายอื่นๆ นั้น กรณีนี้กรมปศุสัตว์ยังไม่ได้รับรายละเอียดข้อมูลการร้องเรียนว่า เป็นตีนไก่ตู้ไหนและอยู่ในช่วงเวลาใด
ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรมปศุสัตว์มีระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่น ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่ถูกยึดอายัดไว้ กรณีนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2558 โดยมีขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการทำลายซากจัดทำรายงานบันทึกการทำลายซาก และการรายงานผล และดำเนินการตาม บันทึกข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์กับกรมศุลกากร เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร หากตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่คนใดกระทำความผิด ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ จะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการละเว้น
น.สพ.สมชวน กล่าวเพิ่มเติมถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษ นายอนุรักษ์ ม่วงทิม อดีตหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี โดยอ้างเอกสารที่มีการบันทึกข้อมูลในใบปิดบัญชีของบริษัทที่ลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” ระบุในช่องไม่มีใบเสร็จว่า จ่ายเงินให้ “หมออ๊อด” 30,000 บาท ถือว่า เป็นการรับสินบนและกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยใบปิดบัญชีที่อ้างถึงนั้น ระบุวันที่ 23 ก.ย.2565
นอกจากนี้ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษยังอ้างว่า จากการตรวจค้นห้องเย็นแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ทาง DSI มีหลักฐานเรียบร้อยแล้วนั้น กรมปศุสัตว์ได้ส่งหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอความอนุเคราะห์ข้อมูลและเอกสารหลักฐานตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า DSI ตรวจยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเพื่อเบิกทางในการนำเข้าและเคลื่อนย้าย “หมูเถื่อน” ในบ้านผู้ต้องหารายหนึ่ง
โดยกรมปศุสัตว์ต้องการตรวจสอบว่า มีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เกี่ยวข้องจริงหรือไม่ และเกี่ยวข้องในช่วงเวลาใด หากได้รับข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่า มีการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ทางกรมปศุสัตว์จะนำเอกสารหลักฐานดังกล่าวมาประกอบการดำเนินการตามกฎหมายอาญา และความผิดทางวินัยอย่างเด็ดขาดโดยด่วนที่สุด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอเอกสารของ DSI กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเป็นธรรม ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ
น.สพ.สมชวน กล่าวเน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับทหาร ตำรวจ ศุลกากร และฝ่ายปกครอง เข้าร่วมตรวจสอบควบคุมกักกัน กำกับดูแลในการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์และดำเนินคดีให้เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อกำจัดการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์เถื่อนทุกรูปแบบ และหากพบว่า มีเจ้าหน้าที่กระทำผิดก็พร้อมจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายโดยไม่ละเว้นเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือหรือการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส การกระทำความผิดกฎหมาย ด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งผ่าน application DLD 4.0 แอปฯใช้ง่าย ได้ประโยชน์จริง สามารถโหลดได้ทั้ง Android และ iOS