ก้าวไกลเคลียร์ปม คุกคามทางเพศ ลุ้นต่อ สอยพิธา-ยุบพรรค
ปัญหาเกี่ยวกับ สส.คุกคามทางเพศ บีบให้พรรคก้าวไกลต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ จนต้องมี “แพะรับบาป” กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตสุ่มเสี่ยง “พรรคแตก”
มติขับ 2 สส.ปราจีนบุรี – สส.ฝั่งธน ฯ ออกจากพรรค “เสียงแตก” เสียงแตกที่ 1 มติ 120 ต่อ 128 เสียง ลงมติให้ขับ นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี ออกจากพรรค
มติ 106 ต่อ 128 เสียง (คะแนนไม่ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงของ สส.และกรรมการบริหารพรรค) ไม่ขับออก สส.ปูอัด-ไชยามพวาน มั่นเพียร์จิตต์ สส.กทม. จอมทอง-บางขุนเทียน-ท่าข้าม
เสียงแตกที่ 2 สส.ก้าวไกลที่ลงมติ “สวนทาง” กับการให้ “ขับออก” กว่า 100 คน ที่ลงมติ “ไม่ขับออก” เป็น “รอยร้าว” ของพรรคก้าวไกลที่เสียงไม่เป็นเนื้อเดียวกัน
มติขับออก “บานปลาย” เมื่อวุฒิพงศ์ ออกมา “เปิดประเด็น” ถูกจัดฉาก-กลั่นแกล้งทางการเมืองจาก “ผู้ช่วย สส.” ภาคตะวันออก ชื่อย่อ “ส” ในพรรคก้าวไกล ปมขัดผลประโยชน์การก่อสร้างบ่อขยะในจังหวัดปราจีนบุรี
มติไม่ขับออก สส.ปูอัด ค้านสายตา “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และลงมติ “ดาบสอง” ด้วย “มติเอกฉันท์” ขับออกจากพรรค หลังจาก “สส.ปูอัด” ไม่สำนึกผิด-ไม่ขอโทษอย่างจริงใจ และยังแถลงข่าวคุกคามทางเพศกับเหยื่อซ้ำ
ก้าวไกล ยังต้องเหนื่อยอีกนาน
อีก 2 คดีที่พรรคก้าวไกลต้องลุ้นอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คดีแรก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจจัยว่า สมาชิกภาพ สส.ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงหรือไม่
คดีนี้ กกต.ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง
คดีถือหุ้นไอทีวี ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 โดยนายพิธายื่นขอขยายระยะเวลาชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหามาแล้ว 2 ครั้ง (ครั้งละ 30 วัน)
ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณาคดรมาแล้ว 11 ครั้ง เรียกบุคคล-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็น-จัดส่งเอกสาร 12 ราย โดยกำหนดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 15 พ.ย. 2566
คดีที่สอง นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ว่า การกระทำของ “พิธา” ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา ยกเลิกมาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 พิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว 37 ครั้ง โดยกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 15 พ.ย. 2566 เช่นเดียวกัน ผลของคดีเลวร้ายที่สุด คือ “ยุบพรรค”
ไม่เฉพาะก้าวไกลที่มี “บาดแผล” แต่ “พรรคคู่แข่ง” อย่างเพื่อไทยก็มี “ชนักปักหลัง” สลัดทิ้งไม่หลุด หลังจากเลือก อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ชนิดไร้คู่เทียบ
เพื่อไทยยังคงติดภาพลักษณ์ “พรรคครอบครัว” มีเงาของ “คนตระกูลชินวัตร” อยู่ข้างหลัง กุมบังเหียนโดยเชื้อสาย-ทายาท “นายกฯชินวัตร” สืบทอดอำนาจต่อจาก “ทักษิณ ชินวัตร” นายกฯผู้เป็นพ่อ และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกฯผู้เป็นอา
ตอกย้ำด้วยโครงสร้างอำนาจใหม่ในพรรคเพื่อไทย เลขาธิการพรรค-รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ล้วนแต่เป็นทายาทนักการเมือง-บ้านใหญ่ที่ส่งไม้ต่ออำนาจกันเป็นทอด
การรีแบรนด์พรรคดันคนรุ่นใหม่ สายเลือดคนแดนไกล-ทายาทบ้านใหญ่มาเป็น “รัฐบาลเงา” รอเสียบ “ครม.เศรษฐา” หากบริหารงานเพลี้ยงพล้ำ
เมื่อทักษิณเคยทิ้งหลักฐานไว้ว่า “อุ๊งอิ๊งค์อยู่พรรค เศรษฐาอยู่ทำเนียบ” สิ่งที่อยู่ในใจคนพรรคเพื่อไทยกลัวที่สุดมีอยู่ “2ยุบ” คือ “ยุบสภา” และ “ยุบพรรค”
ปชป.ยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่
ขณะที่ “พรรคเก่าแก่” ประชาธิปัตย์ สถานะทางการเมืองในระบบรัฐสภาแบบ “ไร้ตัวตน” ไม่มี “หัวหน้าพรรคคนใหม่” กว่า 6 เดือน “กลุ่มอำนาจเก่า” ล้ม-ล่มองค์ประชุมเลือกตั้งหน้า “หัวหน้าพรรคคนที่ 9” ถึง 2 ครั้ง จนต้องเลื่อนออกไป “ไม่มีกำหนด”
ภายหลังจาก “จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฎ์” หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ประกาศลาออก แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้ยับเยิน ได้ สส.เพียง 25 ที่นั่ง
แอคชั่นของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ในทางนิตินัยจะสวมบทเป็นพรรคฝ่ายค้าย แต่ในทางพฤตินัยกลับ “ง้างหมัดไม่สุด” พร้อมที่จะ “จิ้มก้อง” ทอดสะพานให้เพื่อไทย
แต่ยังติดอยู่ที่ “ผู้มีบารมี” ของพรรคประชาธิปัตย์อย่าง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ที่คอยเป็น “ก้างขวางคอ” ไม่ให้ถูก “กลุ่มอำนาจใหม่” เดินเกม “ยึดพรรค”
รอเพียงเวลา “พรรคแตก” หลังจากตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จริง “กลุ่ม 16 สส.” ที่ “แหกมติพรรค” โหวตสวนมติพรรคยกมือสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็น “นายกฯคนที่30”
พรรคสองลุงอายุเป็นเพียงตัวเลข
มาที่ “พรรคสองลุง” ที่มีปัญหาภายในพรรคไม่ต่างกัน หลังจาก 2 ป. วางมือทางการเมือง โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่แบกสักขารกุมบังเหียนหัวหน้าพรรคอายุมากที่สุด
สถานะของ พล.อ.ประวิตร ภายในพรรคพลังประชารัฐขณะนี้ เป็นเพียงหัวหน้าพรรคแต่ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ “พี่ใหญ่” หมดอำนาจ ไม่สามารถคอนโทรลพรรค บารมีที่เหลืออยู่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา
ปัจจุบันพรรคพลังประชารัฐรอเวลา “แยกย้าย” ภายหลัง “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ที่เคยเป็น “เจ้าแม่ป่ารอยต่อ” ชิงลาออกทุกตำแหน่งภายในพรรค ไปเป็น “ผู้แทนการค้าไทย” ให้กับรัฐบาลเพื่อไทย
ก่อนหน้านั้น บิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค-เพื่อนซี้ของ พล.อ.ประวิตร ก็ลาออกจากพรรคไปก่อนหน้าที่แล้ว แต่ให้เหตุผล-ออกอาการน้อยใจว่า ไม่อยากอยู่ขวางหูขวางตาใคร
พรรคพลังประชารัฐฉวยจังหวะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส “กู้พรรค” ก้าวข้ามความขัดแย้งเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย คุม “กระทรวงเกรดเอ” อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสร้างกระแส-เติมกระสุน
ปิดท้ายที่ “พรรคลุงตู่” หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเปิดทางเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
พรรครวมไทยสร้างชาติถูกปรามาสว่าเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” จึงถูกคาดหมายว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ “วางมือ” สส.36 ชีวิต ที่ได้มาเพราะ “กระแสลุงตู่” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะได้น้อยลงกว่าเดิม
พรรครวมไทยสร้างชาติจึง “ประคบประหงม” ผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อนำไป “ต่อยอด” โดย 2 กระทรวงเศรษฐกิจหลักอย่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอาวุธทางการเมืองสำคัญ
โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค เป็นเจ้ากระทรวงที่โชว์ผลงานรายวัน ปั่นผลงาบรรเทาค่าครองชีพ ลดราคาค่าไฟฟ้า-ลดราคาน้ำมัน
5 พรรคการเมืองใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลล้วนบาดแผล-ชนักปักหลังทุกพรรคไม่แตกต่างกัน