สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 พ.ย. 66
สภาพอากาศวันนี้ :บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นระลอกใหม่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์:ในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ย. 66 ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้ตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้นประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 10 พ.ย. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 3,979 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,096 ล้าน ลบ.ม. (78%)
ปริมาณน้ำใช้การ 39,927 ล้าน ลบ.ม. (69%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 10 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมต่ำสุด 2 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด
2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยง ต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมชลประทาน ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตามที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ย. 2566 นั้น โดยให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง มอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถรองรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 66 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหาและมอบนโยบายแนวทางการแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ตั้งอยู่ในแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านคลองนาพง หมู่ 7 ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันได้สร้างเขื่อนทดน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำ พร้อมอาคารประกอบ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอลับแล อำเภอตรอน และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก รวมพื้นที่กว่า 481,400 ไร่
สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำท่าประเทศไทย
สถานการณ์น้ำส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้น บริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์น้ำท่าแม่น้ำโขง คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วง 5 วันข้างหน้าพบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้น 1 สถานี คือ สถานีเชียงแสน แนวโน้มลดลง 2 สถานี คือ สถานีเชียงคาน และหนองคาย แนวโน้มทรงตัว 3 สถานี คือ สถานีนครพนม โขงเจียม และมุกดาหาร