กอนช. ส่งโดรนบินสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำโคราช
กอนช. ส่งโดรนบินสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำโคราชเร่งแผนปันน้ำในพื้นที่เพิ่ม ลดผลกระทบประชาชน
กอนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.นครราชสีมา ย้ำข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีห่วงใยพื้นที่แล้งในช่วงฤดูฝน ประสานหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ ระดมแผนสูบทอยน้ำเพิ่มในแหล่งน้ำลดผลกระทบให้กับประชาชนทันท่วงที ส่งโดรนสแกนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อวางแผนรับมือหวั่นขยายวงกว้าง
นาย สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.นครราชสีมา โดยประชุมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย ก่อนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อให้การช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อ.โนนไทย ของกรมทรัพยากรน้ำ ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ สทนช.เร่งดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำอย่างจำกัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ฝนตกน้อยที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ประสบปัญหาภัยแล้งได้เช่นกัน
ทั้งนี้ จากการหารือหน่วยงานต่างๆ ได้พิจารณาแนวทางการเชื่อมโยงแหล่งน้ำใกล้เคียงมาสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เช่น การสูบทอยน้ำไปเก็บกักในแหล่งน้ำต่างๆ การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการพบปะพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำที่มีน้อย โดยมีการปรับตัวและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือถึงจะจัดสรรเพื่อการเกษตรได้ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ได้มีการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากการใช้โดรนบินสำรวจในพื้นที่จริงเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปวางแผนในการให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมถึงพิจารณาแผนงาน
การปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำเดิม และระบบกระจายน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพรวมไปถึงการเก็บกักน้ำก็จะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้ประชาชนที่ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำยาวไปถึงปี 2568 ที่อาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญได้เช่นกัน“ ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ให้ความช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา อย่างเร่งด่วน รวมถึงระดมเครื่องจักรเครื่องมือวางแผนสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ อาทิ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ่างเก็บน้ำหนองกก รวมถึงแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังสระประปาหมู่บ้านและคลองสาธารณะเพื่อส่งน้ำต่อไปยังพื้นที่การเกษตรต่างๆ ส่วนแผนระยะยาวได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้พิจารณาความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของโครงการ ก่อนเสนอมายัง สทนช.เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่โดยเร็วต่อไป ”เลขาธิการ สทนช.กล่าว