สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 ส.ค. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตาก (118) จ.ตราด (105) จ.กาญจนบุรี (87) จ.สกลนคร (77) กรุงเทพมหานคร (57) และ จ.พังงา (51)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,629 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,943 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ร่วมกับจังหวัดนครพนม ดำเนินการสำรวจพื้นที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก แร้อมสนับสนุนรถสะพานเครื่องหนุนมั่น (Modular Fast Bridge) ติดตั้งชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางสัญจรถูกน้ำกัดเซาะจนถนนขาดใช้การไม่ได้ ในพื้นที่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม
กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานเตรียมพร้อมบริหารความเสี่ยงน้ำท่วม-น้ำแล้ง
วานนี้ (3 ส.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ โดย กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ และเร่งสูบน้ำจากลำน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ได้คาดว่าในระยะนี้จะยังมีฝนกระจายตัวแต่ปริมาณจะลดลงจากช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. นี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินสถานการณ์ว่ามีโอกาสที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนผ่านเข้ามาประมาณ 1-2 ลูก
ในขณะที่ สทนช. ได้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการซักซ้อมการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า เพื่อเตรียมรับมือกรณีมีฝนตกมากจากพายุดังกล่าว รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด และเตรียมบริหารความเสี่ยงในกรณีที่ไม่มีพายุจรเข้ามา ภายใต้การวางแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี เพื่อให้มีน้ำเพียงพอถึงช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 พร้อมรณรงค์ในเรื่องการประหยัดน้ำและงดทำนาปีต่อเนื่อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชน ร่วมช่วยขุดลอก ขุดสระเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วง 2 เดือนนี้ที่มีโอกาสที่อาจจะมีฝนตกไว้ให้ได้มากที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ดังนี้
- ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่คลองบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง อำเภอ อําเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน - สภาพอากาศและการคาดการณ์
ในช่วงวันที่ 4 – 7 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 9 ส.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น - การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
3.1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้จัดโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ณ โรงแรม โอทู ลพบุรี ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตามมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับ
สู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ใน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้
3.2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า เนื่องจากในช่วงนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านในพื้นที่ตอนบนของประเทศส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดย กอนช. ได้มีการประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยช่วงที่ผ่านมามีพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก จ.อำนาจเจริญ จ.นครพนม จ.อุดรธานี ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม นับเป็นสัญญาณดีที่มีฝนตกมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้หลายพื้นที่และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เชื่อนภูมิพล เป็นต้น โดยในช่วงวันที่ 27 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวม 1,221 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับพื้นที่ตอนกลางของประเทศและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ยังคงมีฝนค่อนข้างน้อยกว่าปกติ และมีแนวโน้มประสบปัญหาภัยแล้ง จึงจำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน