สทนช. ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของสภาน้ำแห่งเอเชีย
สทนช. ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของสภาน้ำแห่งเอเชีย
นาย สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้เข้าร่วมการประชุมสภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ (Asia Water Council: AWC) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2566 ณ สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำของประเทศสมาชิกต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในที่ประชุม 4th General Assembly ของสภาน้ำแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ประเทศสมาชิกได้เลือก สทนช. ให้เป็นคณะกรรมการบริหารของสภาน้ำแห่งเอเชีย (Board of Council) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งเป็นภารกิจของ สทนช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก SDG6 การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัยของประเทศไทย
สำหรับ สภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ Asia Water Council, AWC เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่ใช้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านน้ำของแต่ละประเทศในการจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 152 องค์กร โดย สทนช. ได้เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562ในการนี้ เลขาธิการ สทนช. ยังได้หารือนายฮันซอก ริว (Mr. Hakseok Ryu) หัวหน้าหน่วยประสานงานเกาหลี (Head of Korea Liaison Unit) จากสถาบัน The Global Green Growth Institute (GGGI) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศและประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยแล้ว โดย GGGI มีนโยบายการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับการศึกษางานโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ของไทย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการในด้านบริหารจัดการน้ำ
อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป นอกจากนี้ ยังได้หารือทวิภาคีกับนางคูมิ คิตาโมริ (Ms. Kumi Kitamori) รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าแผนกการเติบโตสีเขียวและความสัมพันธ์ระดับโลก (Deputy Director of Environment Directorate and Head of Green Growth & Global Relations Division) จากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) โดยมีการหารือแนวทางการยกระดับความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร อันเป็นเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้นของการจัดตั้ง Intelligent Water Resources Management Unit ด้านน้ำ.