ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 7-8 พ.ค 2566
เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566
เรื่องที่ 2,055 การแข่งขัน มีความดุเดือดมากขึ้น ฝ่ายค้านเดิม มีแต้มต่อ โพลทุกสำนักประสานเสียง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นนำอันดับหนึ่ง
ขั้วรัฐบาล กระแสไม่ดี ผู้สมัครเขตหลายพื้นทิ้งพรรคเอาตัวรอด ด้วยการเอาโลโก้พรรคออกจากป้ายหาเสียง บ้างก็เปลี่ยนโทนสีของป้ายหาให้คล้ายพรรคคู่แข่งที่ได้รับคะแนนนิยมดีกว่า หวังให้ชาวบ้านเข้าใจผิด แล้วกาเลือกตั้งเอง เป็น ส.ส.
ในโค้งสุดท้ายนี้ เรายังเป็นการปั้นกระแสในโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งยุคใหม่ เช่น พรรคก้าวไกล ปล่อยคลิป “กาก้าวไกล เปลี่ยนประเทศไทยไปด้วยกัน” ขณะที่พรรคเพื่อไทย ปล่อยคลิป แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ในสารคดี ‘The Candidate Paetongtarn’ เล่าการเดินทางบนเส้นทางการเมืองตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน
ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ ปล่อยคลิป “คุยกับลุง” สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองทั้งชีวิตส่วนตัว และหน้าที่การงาน โดยเป็นบรรยากาศการพูดคุยแบบสบายๆอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไหน
เรื่องที่ 2,056 มหากาพย์ค่าไฟไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ เพราะยิ่งนานวันก็ยิ่งมีประเด็นให้ต้องจับตา ล่าสุด “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุถึงความแตกต่างของ 2 ลุงเรื่องนโยบายไฟฟ้าโซล่าร์ ซึ่งเนื้อหาหลักที่ “ธีระชัย” ต้องการจะบอกก็คือ ลุงป้อม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานของลุงตู่
หลักฐานที่ “ธีระชัย” หยิบยกมาประกอบก็คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ และลุงตู่ไม่เคยมอบหมายลุงป้อม โดยอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ ลุงตู่เปิดประมูลไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นล็อตใหญ่ถึง 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้ที่ได้มากที่สุดก็คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF
“ธีระชัย” ใช้คำว่า “ใจลุงตู่อยู่ที่นายทุน”แต่นโยบายลุงป้อมจะเน้นให้รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน อย่างเต็มที่
หลังจากนั้นไม่ทันไร “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสเฟสบุ๊กส่วนตัวตอบโต้กลับมาทันควัน โดยบอกว่า ข้อมูลที่นำเสนอไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื้อหาที่รองพงษ์พยายามอธิบายก็คือ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ เป็นการทยอยรับซื้อในระยะเวลา 6 ปีตั้งแต่ปี 2567-2573 เป็นพลังงานสะอาด ราคาถูก ไม่มีค่าพร้อมจ่าย
โดยมีราคารับซื้อเพียง 2.0724-3.1014 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ช่วยทำให้ค่าไฟของประเทศถูกลง เพราะไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวนด้านราคาสูงที่เป็นสาเหตุให้ค่าไฟแพงในตอนนี้ คุณผู้อ่านละครับมองว่าข้อมูลของฝ่ายใดน่าเชื่อถือ ลองชั่งใจกันเองนะขอรับกระผม
เรื่องที่ 2,057 “หนุ่มหน้ามน คนหน้าใส” ยกนิ้วให้ “กร-สิทธิกร ดิเรกสุนทร” เอ็มดี บสย. รับมอบเป็นประธานออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวด
วันที่ 2 พ.ค.2566 พร้อมด้วยพนักงาน บสย. ร่วมหมุนวงล้อออกรางวัลสลากฯ งวดที่ผ่านมา
เรื่องที่ 2,058 “K9” ในวันจันทร์ ที่ 8 พ.ค.2566 เวลา 08.09 น. กรมศุลกากรจะจัดพิธีวางฤกษ์มงคลอาคาร ศูนย์ฝึกสุนัข กรมศุลกากร โดยมีนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน ณ บริเวณอาคารที่พักกรมศุลกากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Customs Residence) ซอยลาดกระบัง 54 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
สรุปข่าวต่างประเทศ
เรื่องที่ 2,059 ลดความสำคัญ : นายแพทย์เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกเลิกสถานะฉุกเฉินของโรคโควิด-19 แล้ว โดยจะไม่ถือว่าโรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกอีกต่อไป“โรคโควิด-19 ได้อยู่ในช่วงขาลงเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ขณะที่ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นทั้งจากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อ อัตราเสียชีวิตก็ลดลง และระบบสาธารณสุขก็เผชิญกับแรงกดดันน้อยลงตามกัน”นายแพทย์เทดรอส กล่าวว่า “แนวโน้มดังกล่าวช่วยให้ประเทศส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตอย่างที่เราเคยรู้จักก่อนเกิดโควิด-19 ได้” และเพิ่มเติมว่า “ผมขอประกาศว่าโรคโควิด-19 ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกอีกต่อไป”ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ยกให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 ต่อมาในเดือนมี.ค. 2563 องค์การอนามัยโลกก็ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็น “การระบาดใหญ่” (pandemic)!!
เรื่องที่ 2,060 บริษัทวิจัยแกลลัป (Gallup) ระบุว่า ชาวอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่งวิตกกังวลความปลอดภัยของเงินที่พวกเขาฝากอยู่ในบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ท่ามกลางความปั่นป่วนของระบบการธนาคารสหรัฐ
ผลสำรวจ พบว่า 48% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐกังวลเกี่ยวกับเงินของตัวเอง ซึ่งแบ่งเป็นผู้ที่มีความกังวล “มาก” (19%) และผู้ที่มีความกังวล “ปานกลาง” (29%) โดยมีเพียง 30% ที่ “ไม่รู้สึกกังวล” และ 20% ที่ “ไม่กังวลเลยสักนิด”สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การสำรวจข้างต้นจัดทำระหว่างวันที่ 3-25 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากการล้มละลายของธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. และธนาคารซิกเนเจอร์ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาแกลลัป ระบุว่า ผลสำรวจนี้คล้ายคลึงกับช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 โดยช่วงเดือนก.ย.ปีนั้น ประมาณ 45% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐมีความกังวลมากหรือปานกลางเกี่ยวกับความปลอดภัยของเงินตัวเอง หลังจากการล้มละลายของธนาคารเลห์แมน บราเธอร์สทั้งนี้ การล้มละลายของธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส ยังคงเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐตราบจนทุกวันนี้ !! (ยังไม่จบ)
ขณะที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีนักลงทุนผู้เป็นเจ้าของบริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ อิงค์ออกโรงเตือนว่า การที่ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเงินฝากในธนาคารและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐถือเป็นอันตรายใหญ่หลวง
ทั้งนี้ หากรัฐบาลสหรัฐประสบความล้มเหลวในการรับประกันเงินฝากของผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) หลัง SVB ล้มแบบฉับพลันในเดือนมี.ค. จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงนายบัฟเฟตต์ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่น่าจะออกมาแถลงว่า รัฐบาลจะไม่รับประกันเงินฝากทั้งหมดของประชาชน เพราะจะทำให้เกิดภาวะแห่ถอนเงินขึ้นในทุกธนาคารของประเทศและกระทบต่อระบบธนาคารโลกตามปกติแล้วบรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) รับประกันเงินฝากสูงสุด 250,000 ดอลลาร์ แต่เมื่อธนาคาร SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ล้ม หลังเผชิญภาวะแห่ถอนเงินครั้งใหญ่ FDIC ก็ออกมาประกาศรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคารทั้งสองแห่ง
โดยนพวัชร์