ญี่ปุ่นแก้กม.ห้ามพ่อแม่ลงโทษเด็กรุนแรง
โตเกียว : สำนักข่าวเเจแปน ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ว่า ญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลใช้กำลังลงโทษเด็ก หลังจากเกิดคดีทำร้ายร่างกายร้ายแรงมากมายที่เกิดขึ้นเนื่องจากข้ออ้างว่าทำไปเพื่อฝึกวินัยเด็ก
กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย.ปีหน้า ไม่มีบทลงโทษผู้กระทำความผิด แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายจะห้ามไม่ให้ผู้ปกครอง ผู้ปกครองอุปถัมภ์ และหัวหน้าศูนย์สังคมสงเคราะห์เด็กใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพื่อลงโทษเด็ก
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ ทางโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ในศูนย์สังคมสงเคราะห์เด็ก จำเป็นต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีเป็นความลับ
ศูนย์ให้คำปรึกษาเด็กท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ก็ถูกกำชับให้มอบข้อมูลเกี่ยวกับคดีอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การสนับสนุนเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าเด็กจะถูกส่งตัวย้ายไปยังบริเวณอื่น ๆ รวมไปถึงเรื่องการร่วมมือกันระหว่างศูนย์หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรับมือความรุนแรงภายในครอบครัวด้วย
ทางเเจแปน ทูเดย์ เสริมว่า ได้มีการกำชับให้ทางรัฐบาลท้องถิ่นและศูนย์สังคมสงเคราะห์เด็กเข้าปรึกษากับผู้ปกครองที่มีประวัติทำร้ายร่างกายเด็ก
กฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ได้ถูกแก้ไขให้มอบอำนาจแก่ทางศูนย์สังคมสงเคราะห์เด็กในการ “แทรกแซง” คดีหรือกรณีทำร้ายร่างกายได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการแจกแจงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละราย ตั้งแต่นำตัวเด็กเข้าสู่การอารักขา ไปจนถึงผู้ที่รับหน้าที่ติดต่อกับผู้ปกครอง
ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีคดีเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายที่กลายเป็นคดีดังหลายคดี
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า จำนวนเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการทำร้ายร่างกายมากเป็นประวัติการณ์ถึง 80,104 ราย ในปีก่อน
เมื่อเดือน มี.ค.ปีก่อน ยูอะ ฟุนาโตะ วัย 5 ปี เสียชีวิตด้วยน้ำหนักเพียงแค่ 12 กก. หลังจากถูกทำร้ายร่างกายโดยผู้ปกครองของเด็กหญิงเองเป็นเวลายาวนาน ทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม ซึ่งทางตำรวจระบุว่าสาเหตุเสียชีวิตคืออาการโลหิตเป็นพิษเนื่องจากเป็นโรคปอดอักเสบ เพราะขาดสารอาหาร
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา มิอะ คุริฮาระ วัย 10 ปี พบเป็นศพในห้องน้ำที่บ้านของเธอ ณ จังหวัดชิบะ พ่อและแม่ของเด็กหญิงถูกจับเป็นผู้ต้องสงสัยในการฆาตกรรม หลังมีรายงานว่าพ่อของเธอทำร้ายเธอเป็นประจำ และไม่อนุญาตให้เธอไปโรงเรียน
โดยทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเจ้าหน้าที่รับตัวเด็กเข้าสู่การคุ้มครอง ก่อนจะส่งตัวเด็กคืนให้กับผู้ปกครองอีกครั้ง ยิ่งแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของบริการด้านสวัสดิการของเด็กในญี่ปุ่น และความล้มเหลวของนักสังคมสงเคราะห์ในการระบุและจัดการกับความเสี่ยงที่เหยื่อเด็กต้องเผชิญ
ทางเเจแปน ทูเดย์ ยกคำพูดของคาซูฮิโกะ อาเบะ ศาสตราจารย์ด้านสังคมสงเคราะห์เด็กที่มหาวิทยาลัยเซนัน กักคุอิน ระบุว่า ผู้ปกครองจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวิธีสั่งสอนด้านวินัยของเด็กที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง
โดยเขาเสริมว่า “ญี่ปุ่นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินตามมาตรการต่าง ๆ ต่อไป”