SHEconomy เทรนด์ตัวแม่ จะสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจไทยอย่างไร?
SHEconomy หรือ เศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง เป็นอีกหนึ่งเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง โดยคาดว่าในปี 2573 อำนาจการใช้จ่ายของผู้หญิงทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 63.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) จากในปี 2565 อยู่ที่ 39.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) หรือ ขยายตัวเฉลี่ยปีละราว 6%CAGR
SHEconomy มีปัจจัยหนุนจาก 1) ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย 2) บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต 3) ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน
Krungthai COMPASS มองว่า สินค้าที่สามารถต่อยอดให้สอดรับกับเทรนด์ SHEconomy ได้เป็นกลุ่มแรกๆ ได้แก่ อาหารฟังก์ชันหรืออาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องประดับ และสมุนไพร โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการไทย 1) ศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้หญิงที่ไม่หยุดนิ่ง 2) ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับเทรนด์ ESG 3) เน้นตลาด E-Commerce 4) ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย และ 5) สร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหรือ Startup ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ณ วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นอีกวันสำคัญของโลกที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรองว่า เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งในปัจจุบันทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบทบาทของสตรีทั้งในด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับงานศึกษาของนิโอ ทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทด้านการสื่อสารและสร้างชื่อเสียงองค์กร ที่พบว่า ผู้หญิงมีสถานะทางการเงินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากจำนวนผู้หญิงวัยทำงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีบทบาททางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต [1]ส่งผลทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งเรียกว่า “SHEconomy”หรือเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง จึงทำให้มีคำถามที่น่าสนใจว่า จากเทรนด์ดังกล่าว ภาคธุรกิจไทยจะสามารถอาศัยโอกาสจากการเติบโตนี้ได้อย่างไร แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น อยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ SHEconomy กันก่อนว่าคืออะไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เทรนด์ดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
SHEconomy คืออะไร?
SHEconomy หรือ เศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง คือ แนวคิดที่มีผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านบทบาทของผู้ประกอบการและผู้บริหารในตลาดแรงงานไปจนถึงบทบาทของผู้บริโภค[2] โดยปัจจุบัน SHEconomy เป็นหนึ่ง Global Mega-trends ที่กำลังมาแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของโลก ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามอง ส่งผลให้หลายธุรกิจให้ความสนใจที่จะเจาะตลาดกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น
ข้อมูลจากบริษัท Accenture เผยว่า ผู้หญิงชาวจีนมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเฉลี่ยปีละ 10 ล้านล้านหยวน (50 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นมูลค่าการบริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก หรือเกือบเท่ากับตลาดค้าปลีกของประเทศอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส รวมกัน ทำให้ตลาดสินค้าสำหรับผู้หญิงมีความน่าสนใจมากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาเทรนด์ SHEconomy ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านประชากรที่มีจำนวนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโอกาสด้านการทำงานที่เปิดกว้างให้ผู้หญิงสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ผู้หญิงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน
จากงานศึกษาของ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสหรัฐฯ พบว่า กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตจากในปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ราว 46 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% จากปัจจัยสนับสนุนคือ 1) ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย 2) บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต 3) ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนมากขึ้น
แล้วปัจจัยหนุนเทรนด์ SHEconomy มีอะไรบ้าง?
1. ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials [1]มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย
สัดส่วนผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ซึ่งมีกำลังซื้อสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Populationpyramid[2] ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 ผู้หญิงในกลุ่ม Millennials หรือผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน (ช่วงอายุ 27-42 ปี) จำนวน 1,180 ล้านคน มีสัดส่วน 29.8% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลก และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,511 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35.5% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลก ในปี 2573 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพหนุนให้การใช้จ่ายโดยรวมของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนประชากรผู้หญิงกลุ่ม Millennials ของไทยที่มีจำนวนในปี 2565 อยู่ที่ราว 9.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 25.0% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30.6% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย ในปี 2573 (รูปที่ 2)
โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กล้าใช้จ่ายกับสินค้าและการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งในไทยและต่างประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อีไลฟ์ จำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเครื่องใช้สำนักงานที่ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเทรนด์ SHEconomy คือ เก้าอี้นั่งทำงานสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งต่างกับเก้าอี้ทำงานทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงสรีระของผู้หญิง เป็นต้น
2. บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน
ปัจจุบันผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานในระดับบริหารที่นำมาซึ่งรายได้และอำนาจในการใช้จ่ายที่มากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจของ Fortune 2022[1] ซึ่งเป็นนิตยสารธุรกิจชื่อดังระดับโลกจากประเทศสหรัฐฯ พบว่า จำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 3) เช่นเดียวกับ ผลการศึกษาของของ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์กรมหาชน) หรือ OKMD[2] ที่คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงและสามารถสร้างงานใหม่ที่เกิดจากธุรกิจ SME กว่า 9.7 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้โดยรวมของผู้หญิงอยู่ที่ราว 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย
3. ผู้หญิงเป็นผู้กุมการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน
ผู้หญิงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการหารายได้เข้าสู่ครัวเรือนมากกว่าในอดีต อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจและกำหนดการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยจากงานศึกษาของ Frost & Sullivan[1] พบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการใช้จ่ายในครอบครัวมากถึง 85% ของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว ขณะที่รายได้ของผู้หญิงทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ราว 29.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็สามารถมีอำนาจในการใช้จ่ายซึ่งรวมไปถึงการใช้จ่ายทั้งหมดภายในครอบครัวอยู่ที่ราว 39.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2573 รายได้ของผู้หญิงทั่วโลกจะสูงไปถึง 46.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอำนาจการใช้จ่ายที่ราว 63.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (รูปที่ 4)
สินค้ากลุ่มไหนที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้?
Krungthai COMPASS มองว่า สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มผู้หญิงมีตั้งแต่กลุ่มสุขภาพ ความงาม เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย อาหาร สมุนไพร อาหารสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงของใช้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ สอดคล้องกับ ผลการสำรวจของ Kearney ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้คำปรึกษากับธุรกิจชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาเรื่อง Woman Consumption Survey (2020) พบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้หญิงให้ความสนใจนั้นมีความหลากหลาย เช่นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม เครื่องประดับและเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังให้ความสนใจกับสินค้าในกลุ่มอาหาร สมุนไพร รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง เช่นเดียวกับสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้หญิงให้ความสนใจด้วย[1]
โดยความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากมูลค่าตลาดโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการของไทยในการขยายไปสู่ตลาดส่งออกได้
แล้วสินค้าส่งออกไหนของไทยที่มีศักยภาพที่จะต่อยอดได้ก่อน?
Krungthai COMPASS มองว่า สินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มอาหารฟังก์ชัน อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณี และสมุนไพร มีศักยภาพที่จะสามารถต่อยอดให้สอดรับกับเทรนด์ SHEconomy ได้เป็นกลุ่มแรกๆ โดยในการวิเคราะห์จะเริ่มจากการนำธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ซึ่งมีทั้งหมด 9 ธุรกิจ ตามรูปที่ 5 (หน้า 7) มาพิจารณาตาม Criteria ดังต่อไปนี้
อัตราการเติบโตมูลค่าตลาดโลกของสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ SHEconomy เพื่อสะท้อนถึงความต้องการของสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565-2573 ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับธุรกิจทั้งหมดที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ ได้แก่ อาหารฟังก์ชัน อาหารสัตว์เลี้ยง สมุนไพร และเครื่องประดับ โดยมีการเติบโตของมูลค่าตลาดในปี 2565-2573 อยู่ที่ 13.3% 12.5% 11.9% และ 11.5% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการเติบโตของธุรกิจทั้งหมดที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ ซึ่งอยู่ที่ 9.4%
ส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในตลาดโลกในกลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ SHEconomy เพื่อสะท้อนศักยภาพในการแข่งขันการส่งออกของไทยในตลาดโลก โดยในปี 2565-2573 ธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับธุรกิจทั้งหมดที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ ได้แก่ สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารฟังก์ชัน เครื่องประดับ และสมุนไพร โดยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกในตลาดโลกที่ 7.6% 4.0% 4.0% และ 3.6% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของส่วนแบ่งตลาดส่งออกในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้ ซึ่งอยู่ที่ 2.8%
Implication:
Krungthai COMPASS แนะนำ 4 ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ SHEconomy คือ
ศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้หญิงที่ไม่หยุดนิ่งอยู่เสมอ เนื่องจากผู้หญิงมีความต้องการที่หลากหลายจากด้านกายภาพ รวมไปถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น ผู้หญิงที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก กลุ่มนักกีฬา หรือสาวโสด รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่ต้องเลี้ยงลูกเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น
ต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปสู่เทรนด์ ESG โดยผลการสำรวจจาก Cotton Incorporated’s 2012 Environment (2012) พบว่า ผู้หญิงมีความเต็มใจจะจ่ายสำหรับสินค้าเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ชาย สอดคล้องกับผลการสำรวจจาก National survey (2022) ชี้ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการใช้จ่ายให้กับสินค้าหรือบริษัทที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มอายุ 18-34 ปี
เน้นช่องทางการขายผ่าน E-Commerce เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงและตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าสำหรับผู้หญิงยุคใหม่ โดยผลการสำรวจจากเถาเป่า ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่สุดของจีนในเครืออาลีบาบา พบว่าผู้หญิงชาวจีนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 64% ในวันสตรีสากลในจีนประจำปี 2015-2017 สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน เผยว่า ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีนในปี 2018 มีมูลค่า 1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับยอดขาย 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2013
ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย เพราะนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นและความประทับใจที่ดีแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำและสร้างความผูกพันระยะยาว ดังตัวอย่าง SuperBotttoms ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าสำหรับแม่และเด็ก ของประเทศอินเดีย โดยหนึ่งในสินค้าที่ขายดีที่สุดคือผ้าอ้อมสำหรับทารก ซึ่งได้สร้างประสบการหลังการขายที่น่าประทับใจด้วยการนำเสนอวิดีโอและคำอธิบายสำหรับวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยเน้น Pain Point ที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนต้องพบเจอ
สร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหรือ Startup ในการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิง ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคในกลุ่มใหม่ๆที่มีความต้องการเฉพาะได้มากขึ้น เช่น มัมมี่บูสเตอร์ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการคิดค้นวิจัยสารสำคัญในหัวปลีไทยเพื่อเพิ่มน้ำนมสำหรับผู้หญิงที่ต้องการให้นมลูก โดยปัจจุบันได้ขยายตลาดไปมากกว่า 6 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง กัมพูชา จีน เวียดนาม และมาเลเซีย