สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ก.พ. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง ในขณะที่ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (69 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (33 มม.) และ จ.กำแพงเพชร (27 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 33,734 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 26,873 ล้าน ลบ.ม. (56%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 28 ก.พ. – 2 มี.ค. 66
กอนช. ติดตามสถานการณ์และประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักและฝนตกสะสม ในช่วงวันที่ 28 ก.พ. – 2 มี.ค. 66 ดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก บริเวณ จ.สงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่) จ.ปัตตานี (อ.กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อ.รามัน) จ.นราธิวาส (อ.จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ เมืองนราธิวาสบาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปรับการบริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากรและเครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 26 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาดำเนินการจ่ายน้ำสำหรับอุปโภค ให้กับประชาชนจำนวน 25 ครัวเรือน ในพื้นที่ หมู่ 8 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนการขาดแคลนน้ำใช้เนื่องจากระบบประปาหมู่บ้านชำรุดจากปัญหาแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาตื้นเขิน
1.2 กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปาง จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย แม่น้ำวัง ตำบลวังใต้ อำเภอวังเหนือ และแม่น้ำตุ๋ย ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก แก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง และซ่อมแซมผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 33,734 ล้าน ลบ.ม. (58%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,875 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,717 ล้าน ลบ.ม. (73%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,140 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,169 ล้าน ลบ.ม. (56%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,721 ล้าน ลบ.ม. (56%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 11,619 ล้าน ลบ.ม. (53%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,829 ล้าน ลบ.ม. (56%)