สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ก.พ. 66
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (83 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (60 มม.) และ จ.พังงา (53 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 34,528 ล้าน ลบ.ม. (61%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 27,572 ล้าน ลบ.ม. (58%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ตรวจสอบและบำรุงรักษาสถานีโทรมาตร (Telemetering) ลุ่มน้ำท่าจีน และระบบส่งสัญญานภาพ (CCTV) จำนวน 6 สถานี ในเขตพื้นที่ จ.นครปฐม และสมุทรสาคร โดยตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร อุปกรณ์ตรวจวัดน้ำฝน และคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งทำความสะอาดบริเวณภายในตู้ควบคุม และบริเวณโดยรอบสถานีเพื่อให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
พลเอก ประวิตร ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี และตราด ติดตามมาตรการรับมือแล้ง สั่งเร่งสำรวจ เตรียมแหล่งน้ำสำรอง แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมรองรับ EEC
วานนี้ (20 ก.พ. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.จันทบุรี และตราด เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ตราด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานในพื้นที่
รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สทนช. อำนวยการและกำกับดูแลโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และให้เป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแหล่งน้ำสำรองหรือแหล่งน้ำทางเลือกอื่นๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก สำหรับพื้นที่ EEC มอบหมายกรมชลประทานเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี และเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ จ.ตราด ให้เเล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุน้ำกักเก็บได้ 56.55 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 75,490 ไร่ ให้ตรวจสอบและเตรียมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่
ในโครงข่ายน้ำ EEC ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และให้กรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจและก่อสร้างโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
บูรณาการความร่วมมือในการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ และเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำให้เป็นรูปธรรมและยกระดับคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66 กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการฤดูแล้ง ปี 2565/66 ดังนี้
1.1 สำรวจบริเวณคลองส่งน้ำ พร้อมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่
1.2 ดำเนินการกำจัดวัชพืช ณ คลองพระยาบันลือ ตำบลคลองพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
1.3 ดำเนินการกำจัดผักตบชวา ณ บริเวณหน้าประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มความจุในการกักเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อยกับมีลมแรง ส่วนภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 34,527 ล้าน ลบ.ม. (60%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,574 ล้าน ลบ.ม. (58%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,812 ล้าน ลบ.ม. (75%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,141 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,457 ล้าน ลบ.ม. (58%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 27,406 ล้าน ลบ.ม. (58%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 10,917 ล้าน ลบ.ม. (50%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,521 ล้าน ลบ.ม. (53%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 รวมทั้งติดตามผลการดำเนินโครงการแก้มลิงหนองฉุงใหญ่ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ พร้อมเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่