สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 ก.พ. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.พัทลุง (37 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (35 มม.) และ จ.กระบี่ (29 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 34,840 ล้าน ลบ.ม. (60%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 27,845 ล้าน ลบ.ม. (58%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
เฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำ
โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 19–22 ก.พ. 66 โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 20 ก.พ. 66 ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณปากแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร
กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานเร่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง
กอนช. ติดตามกรมชลประทานดำเนินงานก่อสร้าง ประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เนื่องจากสภาพลำน้ำคลองรับร่อ จะไหลผ่านไปบรรจบกันกับคลองท่าแซะ เมื่อเกิดฝนตกเป็นจำนวนมากปริมาณน้ำจากคลองดังกล่าวจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่าง ประกอบกับมีพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำ เพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง หากดำเนินการแล้วเสร็จสามารถระบายน้ำได้ 1,860 ลบ.ม./วินาที และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตรพื้นที่ชลประทาน4,893 ไร่ สนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค จำนวน 3,500 ครัวเรือน ประชากรได้รับประโยชน์ 10,000 คน
กอนช. เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำ และควบคุมค่าความเค็มบริเวณปากแม่น้ำ รวมถึงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำ ปริมาตรดินขุด 5,127 ลบ.ม. เพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคและทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ณ บ้านแหลมโป๊ะ หมู่ 1 ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราดปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิบัติงาน ตีป่าถากถางพื้นที่ และงานขุดลอก
2. สภาพอากาศ
คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ตอนบนมีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 34,840 ล้าน ลบ.ม. (60%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่
38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,847 ล้าน ลบ.ม. (58%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,851 ล้าน ลบ.ม. (76%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,142 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,562 ล้าน ลบ.ม. (58%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 27,674 ล้าน ลบ.ม. (58%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 10,633 ล้าน ลบ.ม. (49%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,402
ล้าน ลบ.ม. (51%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มผู้ใช้น้ำ โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่มะม่วงแพรกหนามเตียน ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในการใช้งานระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์