มูลค่าจีดีพีปีนี้ทะลุ 18 ล้านล้านบาท
สศค.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัว 3.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (65) ขยายตัว 3% และดีกว่า64 ที่ขยายตัว 1.5% ขณะที่ เงินเฟ้อของไทยได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มูลค่าของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ปีนี้ เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยปี2566 มูลค่าจีดีพีคาดว่า อยู่ที่ 18.67 ล้านล้านบาท ปี2565 อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท และปี2564 มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงปลายปี2565 จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ก็โชคดีที่ไทยเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี
ผอ.สคค. กล่าวว่า มูลค่าจีดีพีปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี2562 ที่มีมูลค่า 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด 19 ในปีนี้ 18.67 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่า มูลค่าของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
โดยปีนี้ คาดว่า จีดีพี ขยายตัว 3.8% มีช่วงคาดการณ์ระหว่าง 3.3-4.3% ดีกว่าปีที่แล้ว (65) ที่ขยายตัว 3% ซึ่งกรณีที่จีดีพีปีที่แล้ว ขยายตัวได้เพียง 3% จากประมาณการก่อนหน้านี้ ขยายตัว 3.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว กดดันต่อเศรษฐกิจ แต่หลังจากที่ไทยเปิดประเทศ และมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น จึงดันให้มูลค่าจีดีพีสูงขึ้น
หลังจากที่ไทยเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 11.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 250% เมื่อเทียบปี2564 และในปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยว น่าจะแตะ 27.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 147% ต่อปี จากเดิมคาดกว่ามีนักท่องเที่ยว 21.5 ล้านคน ส่วนการใช้จ่ายเงินของนักท่อง เที่ยวต่อหัวต่อทริป ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 33,000 บาทต่อหัวต่อทริปเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาทต่อทริป
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องตามอย่างใกล้ทางด้านการท่องเที่ยวมีทั้งหมด 5 เรื่องประกอบด้วย 1.ยกเลิกการใช้นโยบาย Zero-Covid ของจีน และการอนุญาตให้บริษัททัวร์กลับมาดำเนินการอีกครั้ง 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 3.การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย 4.ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเงิน และ5.การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนในการรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว
สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าจะชะลอลงตามการชะลอลงของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวที่ 0.4% ช่วงคาดการณ์ที่ -0.1% ถึง 0.9% การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% ช่วงคาดการณ์ที่ 3% ถึง 4% ตามรายได้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ช่วงคาดการณ์ที่ 3.1% ถึง 4.1% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.8% ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3% ถึง 3.3% ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1%–3% เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี
นายพรชัย กล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วย 1.ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019