สิงคโปร์ใช้นวัตกรรมลดงานพยาบาล
สถาบันเพื่องานวิจัยและเทคโลยี (เอ็มไอที) แห่งสิงคโปร์ Singapore-MIT Alliance for Research and Technology (SMART)
เตรียมนำเสนอผลงานอุปกรณ์ช่วยลดภาระนางพยาบาลเข้าสู่วงการพยาบาลภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อุปกรณ์ดังกล่าวถูกคิดค้นและพัฒนาใช้เป็นตัวรับสัญญาณสังเกตและควบคุมความเร็วของการไหลเวียนของเหลวที่ส่งเข้าร่างกายผู้ป่วย โดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Drip : IV drip) เพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเหล่านางพยาบาลที่ต้องคอยตรวจเช็คหลอดเลือดดำของผู้ป่วยบ่อยๆ เพื่อปรับระดับความเร็วในการให้ยาอย่างเหมาะสมอุปกรณ์ส่งสัญญาณ หรือตัวเซ็นเซอร์ (Sensor) นี้ มีขนาดเพียง 6 x 4 มิลลิเมตร เทียบเท่าจุดเล็กๆ บนเหรียญราคา 5 เซนสิงคโปร์เท่านั้น และจะถูกสอดใส่ในอุปกรณ์หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ (IV Drip) เพื่อส่งสัญญาณมายังอุปกรณ์ควบคุม ซึ่งสามารถปรับระดับความเร็วการไหลของยา หรือ ส่งเสียงเตือนนางพยาบาลเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับการไหลของยา
ดร.อาเจย์ คอททาปาลลิ อายุ 30 ปี ผู้มีส่วนร่วมศึกษาที่ สถาบัน SMART และผู้คิดค้นอุปกรณ์ส่งสัญญานนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นนี้ นางพยาบาลไม่จำเป็นต้องแวะเข้าไปตรวจเช็คอุปกรณ์หยดยาเข้าหลอดเลือดดำที่ผู้ป่วยบ่อยๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้ งานวิจัยของเขาถูกเผยแพร่ในนิตยสาร Nature Scientific Reports เมื่อกลางเดือนม.ค.2559
โดยข้อมูลงานวิจัยของนักวิจัยสถาบัน SMART พบว่า 30% ของเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลสิ้นเปลืองไปกับการสังเกตุการหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย ทั้งนี้ หากเกิดความผิดพลาดในการให้ยาทางเส้นเลือดดำ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ปัจจุบันนี้ นางพยาบาลควบคุมการไหลเวียนของยาผ่านทางตัวหมุนปรับที่ติดมากับอุปกรณ์หยดยา ซึ่งต้องปรับระดับการไหลเวียนเป็นระยะ ซึ่งอุปกรณ์ส่งสัญญาณใหม่นี้ สามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ราคาก็ไม่แพงแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพียงไม่ถึง 40 บาท และเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
นักวิจัยเริ่มงานวิจัยคิดค้นอุปกรณ์ส่งสัญญาณนี้ตั้งแต่ปี 2557 และวางแผนนำเสนอขายใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ภายใน 2-3 ปีนี้ ทั้งนี้ นักวิจัยระบุ อุปกรณ์ส่งสัญญาณนี้เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจจากปลาถ้ำตาบอด (Blind Cave Fish) ซึ่งมีอวัยวะที่ความไวต่อการสั่นสะเทือนอยู่เป็นจำนวนนับร้อย ที่เรียกว่า Neuromasts เป็นปุ่มประสาทรับสัมผัสพิเศษบนหัวและลำตัวของปลาถ้ำตาบอด เพื่อบอกความเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและความเคลื่อนไหวในน้ำ
ดร.คอททาปาลลิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยอุปกรณ์ตัวนี้ เราหวังจะช่วยลดภาระแก่เหล่านางพยาบาลและนำเสนอทางเลือกเทคโนโลยีในราคาที่แสนจะถูกได้อีกในอนาคต”